นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า อาเซียนได้นำคณะเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจ (SEOM) จากประเทศสมาชิก และผู้แทนสำนักเลขาธิการอาเซียน เยือนติมอร์-เลสเต ระหว่างวันที่ 19-21 กรกฎาคม ที่ผ่านมา เพื่อประเมินความพร้อมของติมอร์-เลสเตในการเข้าเป็นสมาชิกอาเซียน ในส่วนของเสาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะความพร้อมในการปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน อาทิ การเปิดเสรีด้านสินค้า การบริการและการลงทุน การอำนวยความสะดวกทางการค้า และการเข้าร่วมความตกลงการค้าเสรีต่างๆ
นางอรมน กล่าวว่า คณะผู้แทนอาเซียนได้หารือกับประธานาธิบดีและผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาลติมอร์-เลสเต ซึ่งได้แสดงความพร้อมที่จะสนับสนุนการดำเนินการต่างๆ ในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกอาเซียน รวมทั้งชี้แจงนโยบายและแผนการพัฒนาประเทศในภาคเศรษฐกิจสำคัญของติมอร์-เลสเต ทั้งด้านการคลัง ศุลกากร การค้าอุตสาหกรรม การเกษตรและประมง และการคมนาคมขนส่งและโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งด้านปิโตรเลียมและทรัพยากรแร่ ซึ่งเป็นภาคการผลิตและแหล่งรายได้ที่สำคัญของประเทศ และแผนการสร้างงานและพัฒนาภาคบริการใหม่ๆ เพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศนอกเหนือจากการพึ่งพารายได้จากน้ำมัน อาทิ การพัฒนาอุตสาหกรรม และบริการการท่องเที่ยว อาทิ การสร้างท่าเรือ ท่าจอดเรือสำราญ การพัฒนาและปรับปรุงพื้นที่เมือง และแผนการยกระดับอุตสาหกรรมกาแฟและการประมงน้ำลึก สำหรับภาคเอกชนของติมอร์-เลสเต นำโดยหอการค้าและอุตสาหกรรมในฐานะพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ของรัฐบาล แสดงความเชื่อมั่นในศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ และสนับสนุนรัฐบาลในการเข้าเป็นสมาชิกอาเซียน
นางอรมน เพิ่มเติมว่า ติมอร์-เลสเต ได้ยื่นใบสมัครเป็นสมาชิกอาเซียนอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2554 โดยอาเซียนได้กำหนดให้ทั้งสามเสาประชาคม ได้แก่ ประชาคมการเมืองความมั่นคงอาเซียน ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ศึกษาและประเมินความพร้อมของติมอร์?เลสเต ในการเข้าเป็นสมาชิกอาเซียน และจัดทำรายงานเสนอผู้นำอาเซียนพิจารณา ทั้งนี้ ในปี 2563 ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) รายงานว่า การเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนของติมอร์-เลสเต จะสร้างช่องทางใหม่สำหรับประเทศสมาชิกอาเซียน ทั้งด้านการค้า การลงทุน และการเคลื่อนย้ายแรงงาน
ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกอาเซียนที่มีการค้ากับติมอร์-เลสเต ได้แก่ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย สำหรับในปี 2564 การค้ารวมระหว่างไทยกับติมอร์-เลสเต มีมูลค่า 11.68 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 213.35 เมื่อเทียบจากปีก่อนหน้า โดยไทยเป็นฝ่ายเกินดุลการค้า มูลค่า 10.82 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และข้าว และสินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช และผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผักผลไม้