นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 17 ม.ค. 60 เห็นชอบจัดตั้งกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ วงเงิน 20,000 ล้านบาท เพื่อกระตุ้นการลงทุนและเพิ่มสภาพคล่องให้เอสเอ็มอี (SME) ซึ่งเป็นเส้นเลือดใหญ่ของเศรษฐกิจไทย รวมถึงพัฒนาและเพิ่มผลิตภาพให้ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย และอุตสาหกรรมอื่นๆ ตามนโยบายรัฐบาล อาทิ BCG Model ยานยนต์ไฟฟ้า อุปกรณ์และบริการทางการแพทย์ ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ 2565 กองทุนฯ ได้ให้บริการสินเชื่อเพื่อเพิ่มศักยภาพ เสริมสภาพคล่อง และช่วยฟื้นฟูธุรกิจไปแล้ว รวมวงเงินกว่า 3,000 ล้านบาท
นายสุริยะ กล่าวว่า จากสถานการณ์ปัจจุบันที่รัฐบาลได้มีการผ่อนคลายมาตรการ และเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้มีผู้ประกอบการจำนวนมากที่ต้องการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อนำไปใช้เป็นทุนหมุนเวียนในธุรกิจ กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ จึงได้ขยายกรอบวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติมอีก 3,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี วงเงินกู้สูงสุด 2 ล้านบาทต่อราย ระยะเวลากู้นานสูงสุด 7 ปี ปลอดชำระเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 12 เดือน
ทั้งนี้ เพื่อให้บริการผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจ BCG และอีก 10 กลุ่มธุรกิจที่มีศักยภาพ อาทิ กลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยว กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูป กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ กลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้าง และกลุ่มอุตสาหกรรมโลจิสติกส์
"คาดว่าเงินสินเชื่อนี้จะสามารถช่วยต่อทุนที่ใช้ในการทำธุรกิจ (Runway) ให้ธุรกิจ SME สามารถอยู่รอดได้ในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน คาดว่าจะปล่อยสินเชื่อได้กว่า 1,000 ราย เกิดการจ้างงานไม่น้อยกว่า 10,000 อัตรา" นายสุริยะ กล่าว
ด้าน นายเดชา จาตุธนานันท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้อำนวยการกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ กล่าวว่า โครงการสินเชื่อสร้างโอกาสและเสริมสภาพคล่อง SME จะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการทั่วประเทศ สามารถเข้าถึงเงินทุน โดยคาดว่าจะเปิดรับคำขอสินเชื่อผ่านช่องทางออนไลน์ประมาณช่วงเดือนส.ค. 65 ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถติดตามข่าวสารได้ที่เว็บไซต์ www.thaismefund.com
สำหรับทิศทางการทำงานของกองทุนฯ จะมุ่งเน้นการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อช่วยยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทยด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เร่งผลักดันให้เกิดและเพิ่มจำนวนธุรกิจในกลุ่ม BCG ภายในประเทศให้มีจำนวนมากขึ้น ควบคู่กับการส่งเสริม SME ให้ปรับตัวได้ในยุค Next Normal รวมถึงการบูรณาการกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ ในการจัดหาช่องทางการตลาดสำหรับผู้ประกอบการ SME ไทย เพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตอย่างมั่นคง