ฝ่ายวิชาการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(EXIM BANK)แนะนำผู้ส่งออกไทยใช้กรณีของผู้ประกอบการในญี่ปุ่น-นิวซีแลนด์ที่ประสบปัญหาเดียวกันมาก่อนเป็นตัวอย่างในการรับมือกับปัญหาเงินบาทแข็งค่าหนัก โดยญี่ปุ่นใช้แนวทางขยายฐานการผลิตไปยังต่างประเทศ ขณะที่นิวซีแลนด์เพิ่มการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน(Hedging)ขึ้นมาในระดับสูง
คำแนะนำดังกล่าว ระบุไว้ในบทวิเคราะห์เรื่อง “ประเทศไทยจะใช้ประโยชน์จากเงินบาทแข็งค่าได้อย่างไร"ว่า ญี่ปุ่นประสบปัญหาเงินเยนแข็งค่าขึ้นถึง 67% ภายใน 3 ปี (2528-2531) ขณะที่สินค้าญี่ปุ่นถูกซ้ำเติมจากมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) ของสหรัฐฯ และยุโรป ทางออกของญี่ปุ่นในเวลานั้นคือ รุกสร้างฐานการผลิตภายนอกประเทศ โดยมีเป้าหมายที่เอเชียตะวันออกและอาเซียน เพื่อประหยัดต้นทุนการผลิตโดยใช้ประโยชน์จากเงินเยนที่แข็งค่าขึ้นและแรงงานราคาถูกในท้องถิ่น
นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างโอกาสส่งออกสินค้าไปยังประเทศที่เข้าไปลงทุน โดยเฉพาะเครื่องจักร และโอกาสส่งออกต่อไปยังประเทศที่สามโดยไม่ต้องเผชิญกับมาตรการ AD ที่ประเทศต่างๆ นำมาใช้กับสินค้าญี่ปุ่น ทำให้มูลค่าเงินลงทุนโดยตรงของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นจาก 17,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2528 เป็น 67,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2532 หรือ 30% ของมูลค่าเงินลงทุนโดยตรงทั้งหมดของโลก และทำให้ญี่ปุ่นคงสถานะเป็นหนึ่งในผู้นำเศรษฐกิจและการค้าของโลกได้จนถึงปัจจุบัน
แม้ว่าประเทศไทยจะยังไม่มีความได้เปรียบด้านเทคโนโลยีการผลิตและสินค้าทุนที่จะได้ประโยชน์จากกลยุทธ์การลงทุนในต่างประเทศเท่ากับญี่ปุ่นในขณะนั้น แต่การขยายฐานการลงทุนในต่างประเทศยังเป็นกลยุทธ์ที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบการไทย สามารถช่วยยกระดับศักยภาพในการแข่งขันด้วยต้นทุนการผลิตและต้นทุนแรงงานที่ถูกลง ช่วยให้ผู้ประกอบการไทยได้รับ GSP ในการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ และยุโรป ทั้งยังช่วยชะลอการแข็งค่าของเงินบาทได้อีกทางหนึ่งด้วย เนื่องจากเป็นช่องทางระบายอุปทานเงินดอลลาร์สหรัฐที่มีอยู่มากในประเทศ
ส่วนกรณีของนิวซีแลนด์ ผู้ส่งออกรับมือกับสถานการณ์ค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์แข็งขึ้นถึง 46% ในช่วงเวลา 5 ปี (ปี 2546-2550) ด้วยการ Hedging โดยมูลค่าส่งออกของนิวซีแลนด์ที่มีการ Hedging เพิ่มขึ้นจาก 40% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดในปี 2546 เป็น 70% ในปี 2550 โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าเกษตรมีการ Hedging สูงถึงเกือบ 80% ของมูลค่าส่งออกสินค้าเกษตรทั้งหมด
ขณะที่ปัจจุบันผู้ส่งออกไทยยังให้ความสำคัญกับการ Hedging ไม่มากนัก โดยดูจาก Hedging Ratio ของผู้ส่งออกไทย ณ กันยายน 2550 อยู่ที่ระดับเพียง 32% ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากสถาบันการเงินมักตั้งวงเงินขั้นต่ำในการซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้า ทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยไม่สามารถดำเนินการได้
แต่ขณะนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ยกเลิกมาตรการสำรอง 30% ไปแล้ว และได้ออกมาตรการเสริมที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายย่อยมีโอกาสในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น โดยธปท.จะรับซื้อต่อเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าจากสถาบันการเงินที่ได้ทำสัญญาซื้อเงินตราต่างประเทศจากรายย่อยไว้ จึงเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการไทยจะทำ Hedging ได้สะดวกขึ้น
นอกจากนี้ การกู้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐมาประกอบธุรกิจส่งออกและชำระคืนเงินกู้เป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐโดยไม่ต้องแปลงเป็นเงินบาทเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยลดภาระของผู้ส่งออกในการชำระคืนเงินกู้ ซึ่งผู้ส่งออกสามารถซื้อประกันความเสี่ยงล่วงหน้า (Forward) เฉพาะในส่วนกำไรได้โดยไม่ก่อให้เกิดแรงกดดันต่อเงินบาทในตอนขายคืน แต่อาจจะมีแรงกดดันต่อเงินบาทบ้างในตอนกู้
ดังนั้นท่ามกลางปัญหาเงินบาทแข็งค่า เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักชะลอตัว และความเสี่ยงที่จะถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป(GSP)สินค้าหลายรายการ ผู้ประกอบการไทยควรรุกขยายฐานการผลิตไปต่างประเทศเหมือนญี่ปุ่นในอดีต
--อินโฟเควสท์ โดย คลฦ/รัชดา/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--