บล.หยวนต้า ระบุในบทวิเคราะห์ว่า คาดว่าเงินเฟ้อในเดือนส.ค. 65 ยังทรงตัวระดับสูงที่กรอบ 7.50-8.00% เนื่องจากฐานดัชนีราคาผู้บริโภคปีก่อนอยู่ในระดับต่ำ (เดือน ส.ค. 64 อยู่ที่ 99.63 ต่ำกว่าเดือน ก.ค. 64 ที่ 99.81), อุปสงค์ในประเทศที่เริ่มฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ และต้นทุนการผลิตที่อยู่ในระดับสูงส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังราคาสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากดัชนีราคาผู้ผลิตเดือน ก.ค.65 ที่เพิ่มขึ้น 12.20% YoY
อย่างไรก็ตาม คาดว่าเงินเฟ้อจะเริ่มชะลอตัวลงอย่างชัดเจนตั้งแต่เดือน ก.ย. จากฐานปีก่อนที่เริ่มยกสูงขึ้นตั้งแต่ ก.ย.64 ภายใต้คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบที่ทรงตัวใกล้เคียงระดับปัจจุบัน โดยมีความเสี่ยงประเด็นความขัดแย้งระหว่างจีน-ไต้หวัน ที่ถือเป็นเงื่อนไขใหม่ในการพิจารณาแนวโน้มเงินเฟ้อ ซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
อนึ่ง กระทรวงพาณิชย์ปรับคาดการณ์เงินเฟ้อปีนี้ขึ้นเป็น 5.50-6.50% จากเดิมคาดที่ 4.00-5.00% ซึ่งมองว่าไม่ใช่ประเด็นใหม่และไม่น่ากังวล เนื่องจากก่อนหน้ามีหลายหน่วยงานออกมาปรับคาดการณ์เงินเฟ้อขึ้น สอดคล้องกับแนวโน้มราคาพลังงานและอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงก่อนหน้านี้ ทรงตัวในระดับสูง...แต่ใกล้ Peak แล้วแรงกดดันด้านเงินเฟ้อต่อนโยบายการเงิน
บล.หยวนต้า ยังคงมุมมองเดิมว่าเงินเฟ้อที่ทรงตัวในระดับสูงทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จำเป็นต้องเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมรอบ 10 ส.ค.ซึ่งคาดว่าจะปรับขึ้น +0.25% เป็น 0.75% ในเชิงของกลยุทธ์การลงทุนเริ่มเห็นสัญญาณการผ่อนคลายของเงินเฟ้อลง ซึ่งคาดจะช่วยหนุนให้ Fund Flow พลิกกลับมาไหลเข้าต่อเนื่อง(จากที่ขายสุทธิในเดือนมิ.ย.65) เพราะก่อนหน้านี้ต่างชาติกังวลกับภาวะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น โดยประเมินว่า Domestic play ที่รองรับเม็ดเงินต่างชาติได้ดี คือ ธนาคารพาณิชย์และค้าปลีก เช่น KBANK, BBL, KKP, MAKRO, CPALL
ด้านบล.แลนด์แอนด์เฮ้าส์ ระบุว่า ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อล่าสุด ก.ค.65 แสดงการลดลง MoM เป็นครั้งแรกใน 7 เดือน (นับตั้งแต่ ธ.ค. 64) อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงเร่งตัวขึ้นทำสถิติสูงสุดใหม่ สะท้อนว่าเริ่มขยายตัวในวงกว้างมากขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากช่วงที่ผ่านมาผู้ผลิตที่ยังไม่ได้ส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมายังผู้บริโภคเต็มที่ เห็นได้จาก CPI ที่ยังตามหลัง PPI
อย่างไรก็ตาม การที่ธนาคารกลางประเทศต่างๆ เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ส่งผลให้มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลง ทำให้ราคาน้ำมันดิบลดลงต่อเนื่องตั้งแต่เดือน มิ.ย. เช่น น้ำมันดิบ Brent ได้ลดลงจากระดับ 124 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เหลือเพียง 94 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล น่าจะมีส่วนช่วยลดแรงกดดันภาวะเงินเฟ้อลงในระยะต่อไป
จากแรงกดดันดังกล่าว มองว่าการประชุม กนง. วันที่ 10 ส.ค.จะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่อาจปรับจะเพิ่มอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพียง 0.25% เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้คาดว่าจะช่วยลดส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยกับต่างประเทศ เพื่อลดแรงกดดันการอ่อนค่าเงินของบาท ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มีแรงกดดันเงินเฟ้อจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุน
ทั้งนี้ มองปัจจัยดังกล่าวเป็นบวกต่อ
1) กลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย BBL (FT=163 บ.), KBANK (FT=174 บ.), KTB (FT=17.4บ .), SCB (FT=152 บ.)
2) กลุ่มที่ทนทานต่อภาวะเงินเฟ้อ เราชอบ BCH (FT=24 บ.), BDMS (FT=29.50 บ.)
3) กลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการลดลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เราชอบ BGRIM (CT=43 บ.), CPALL (FT=72 บ.), HMPRO (Ft=18 บ.), GPSC (FT=82.5 บ.)
ขณะที่ บล.กรุงศรี คาดว่าในการประชุม กนง.สัปดาห์นี้จะมีมติให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% จาก 0.50% เป็น 1% โดยมีเป้าหมายเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น แม้อัตราเงินเฟ้อล่าสุดจะลดลงเป็น 7.61% จาก 7.66% แต่ยังเป็นตัวเลขที่อยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง