น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบผลการประชุมคณะกรรมการติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและค่าใช้จ่ายภาครัฐ ครั้งที่ 2/2565 โดยภาพรวมของการเบิกจ่ายเงินประจำปีงบประมาณ 2565 ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณจนถึงวันที่ 18 พ.ค.65 มีการเบิกจ่ายแล้วจำนวน 2,464,723 ล้านบาท จากแผนการใช้จ่ายรวม 4,060,682 ล้านบาท คิดเป็น 60.70% มีรายละเอียดดังนี้ คือ
งบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2565 วงเงิน 3,100,000 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 1,849,332 ล้านบาท คิดเป็น 59.66%, เงินกันไว้เบิกเหลื่อมปี วงเงิน 237,475 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 147,065 ล้านบาท คิดเป็น 61.93% และเงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจไม่รวมเงินงบประมาณ วงเงิน 309,091 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 133,534 ล้านบาท คิดเป็น 43.20%
ส่วนโครงการภายใต้ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (กรอบวงเงิน 1 ล้านล้านบาท) มีวงเงินตามแผนการใช้จ่ายในปีงบประมาณ 2565 จำนวน 106,909 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 79,056 ล้านบาท คิดเป็น 73.95% และโครงการภายใต้ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 (กรอบวงเงิน 500,000 ล้านบาท) มีแผนการจ่ายในปีงบประมาณ 2565 จำนวน 307,207 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 255,736 ล้านบาท คิดเป็น 83.25%
สำหรับในปีงบประมาณ 2565 มีโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ มูลค่าโครงการตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไปจำนวน 103 โครงการ มูลค่าโครงการรวมทั้งหมด 2.51 ล้านล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 83,508 ล้านบาท คิดเป็น 43.36% ของแผนการใช้จ่ายเงินตั้งแต่ 1 ต.ค.64-30 เม.ย.65 ซึ่งผลการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุน กระทรวงที่มีผลการเบิกจ่ายสูงสุด ได้แก่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, กระทรวงการคลัง และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่วนกระทรวงที่มีผลการเบิกจ่ายต่ำสุด ได้แก่ กระทรวงวัฒนธรรม, กระทรวงแรงงาน, กระทรวงพาณิชย์, กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงยุติธรรม
โดยปัญหาและอุปสรรคที่ทำให้การเบิกจ่ายล่าช้า ประกอบด้วย ด้านการเตรียมความพร้อมก่อนดำเนินโครงการ เช่น มีการปรับแบบรูปรายการหรือแบบแปลนงานก่อสร้างให้สอดคล้องกับพื้นที่จริง ด้านการดำเนินงาน เช่น หน่วยรับงบประมาณต้องหารือกับหน่วยงานต้นสังกัดหรือทบทวนราคากลาง เพื่อให้สอดคล้องกับงบประมาณที่ได้รับ หรือกรณีมีผู้เสนอราคารายเดียวหรือไม่มีผู้เสนอราคา ทำให้ต้องยกเลิกการประกวดราคาและประกาศเชิญชวนใหม่ และด้านความล่าช้าของโครงการที่เกิดจากผู้รับจ้างสามารถขยายเวลาดำเนินการและการคิดค่าปรับในอัตรา 0% ตามมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19
ส่วนการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจนั้น ในปี 2565 รัฐวิสาหกิจมีกรอบลงทุน ณ สิ้นเดือน เม.ย.65 จำนวน 338,126 ล้านบาท มีผลการเบิกจ่ายสะสม 99,703 ล้านบาท คิดเป็น 100% ของแผนเบิกจ่ายสะสม หรือคิดเป็น 29% ของกรอบลงทุนทั้งปี สำหรับรัฐวิสาหกิจที่มีปัญหาการเบิกจ่ายงบลงทุนล่าช้า ได้แก่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือ ทอท. และองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ซึ่งเป็นผลมาจากโควิด-19