นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ระบุว่า การพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในการประชุมวันนี้ คงต้องพิจารณาและให้น้ำหนักในหลายมิติ ทั้งภาพรวมและระยะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การเคลื่อนย้ายเงินทุน และเงินเฟ้อ รวมไปถึงที่หลายฝ่ายมองว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของไทยกับสหรัฐฯ ในปัจจุบันค่อนข้างกว้าง ซึ่งอาจต้องลดช่องว่างนี้ลงเพื่อรองรับเรื่องการเคลื่อนย้ายเงินทุน
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาได้เคยพูดคุยกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แล้ว เพื่อให้มีการสื่อสารเรื่องนโยบายการเงินกับธนาคารพาณิชย์อย่างชัดเจน ส่วนสถาบันการเงินของรัฐนั้น กระทรวงการคลังจะทำหน้าที่ในการสื่อสารเอง
รมว.คลัง กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้เคยขอความร่วมมือไปยังสถาบันการเงินของรัฐให้ช่วยตรึงดอกเบี้ยไว้ให้นานที่สุด เพื่อเป็นการแบ่งเบาและช่วยเหลือประชาชนในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว ส่วนธนาคารพาณิชย์นั้น คงต้องฝากให้ ธปท.ช่วยสื่อสาร
"ที่ผ่านมา เมื่อมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย จะใช้ระยะเวลาในการส่งผ่านนโยบายไปถึงสถาบันการเงินประมาณ 3-6 เดือน ซึ่งระยะเวลาดังกล่าว สถาบันการเงินจะใช้ในการปรับตัว ปรับดอกเบี้ย หากสถาบันการเงินขยับดอกเบี้ยเร็วเกินไป ก็จะกระทบกับเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว ให้ชะลอลงได้ ดังนั้นธนาคารพาณิชย์จึงต้องพิจารณาหลายปัจจัยประกอบด้วย" นายอาคม กล่าว
ส่วนสถานการณ์เงินบาทในปัจจุบันที่กลับมาแข็งค่านั้น มองว่าภาคส่งออกไม่ได้รับความเดือดร้อนหรือผลกระทบ โดยเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนนั้นเป็นหน้าที่ของ ธปท. ที่จะต้องดูแลไม่ให้แข็งค่าเกินไปหรืออ่อนค่าเกินไป ขณะที่ภาคธุรกิจเองก็ต้องปรับตัว และมีการบริหารความเสี่ยง โดยอาจหันมาใช้วัตถุดิบภายในประเทศมากขึ้นในการผลิตสินค้า
รมว.คลัง กล่าวอีกว่า เงินบาทที่แข็งค่า จะส่งผลดีกับการนำเข้าน้ำมัน ทำให้นำเข้าได้ในราคาที่ถูกลง แต่ก็ยังไม่สามารถปรับลดราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศลงได้ เพราะขณะนี้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ยังติดลบอยู่กว่า 1 แสนล้านบาท การตรึงราคาขายในระดับปัจจุบันเป็นการช่วยเรื่องสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันฯ กรณีที่หากในอนาคตราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น กองทุนน้ำมันฯ ก็จะมีสภาพคล่องเพียงพอที่จะเข้าไปรองรับการชดเชยราคาขายปลีกในประเทศ
สำหรับแนวทางการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้น นายอาคม มองว่า การดำเนินการต้องดูในจังหวะเวลาที่เหมาะสม หากเศรษฐกิจฟื้นตัว ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น การปรับขึ้นค่าแรงก็สามารถทำได้ แต่หากอยู่ในช่วงที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ การใช้จ่ายของประชาชนอาจได้รับผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น จนทำให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคหลายรายการปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งรัฐบาลก็ได้เข้าไปช่วยเหลือผ่านมาตรการบรรเทาภาระค่าครองชีพ