ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือนก.ค.65 อยู่ที่ระดับ 42.4 เพิ่มขึ้นจากเดือนมิ.ย. ซึ่งอยู่ที่ 41.6 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ระดับ 36.4 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางาน อยู่ที่ระดับ 39.8 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ระดับ 50.8
สำหรับปัจจัยบวกที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.ค.ปรับตัวดีขึ้น มาจาก 1.ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้ผ่อนคลายมาตรการเดินทางระหว่างประเทศ และยกเลิกระบบ Thailand Pass ตั้งแต่ 1 ก.ค., การปรับระดับพื้นที่ควบคุมโควิดเป็นสีเขียวทั่วประเทศ, การเปิดสถานบันเทิงถึงตี 2 ส่งผลเชิงบวกต่อการท่องเที่ยวของไทย 2.การฉีดวัคซีนป้องกันโควิดของทั่วโลกมีมากขึ้น ทำให้เกิดความเชื่อมั่นและคลายความวิตกกังวล รวมทั้งสถานการณ์ผู้ติดเชื้อลดลง 3.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 65 เป็น 3.5% จากปัจจัยการฟื้นตัวของอุปสงค์
ส่วนปัจจัยลบ ได้แก่ ผู้บริโภคยังกังวลว่าเศรษฐกิจยังฟื้นตัวช้า, ความวิตกกังวลต่อการระบาดของโรคโควิดที่ยังคงมีอยู่, ความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งกระทบต่อราคาพลังงานและต้นทุนการผลิตสินค้าให้สูงขึ้น, เงินบาทปรับตัวอ่อนค่า เป็นต้น
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า แม้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ในเดือนก.ค.65 จะปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 แต่ดัชนีในภาพรวมยังคงเคลื่อนไหวคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังฟื้นตัวช้าจากวิกฤติโควิด-19 ในประเทศไทยและทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีปัญหาสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนเข้ามาซ้ำเติม ยิ่งส่งผลกระทบทางจิตวิทยาในเชิงลบอย่างมากต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไป และการจ้างงานในอนาคต ซึ่งยังคงมีโอกาสบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างต่อเนื่องในระยะอันใกล้นี้
"การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ในรอบ 7 เดือนทุกรายการ ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคเริ่มกลับมาเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัวขึ้น ซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องหรือไม่" นายธนวรรธน์ กล่าว
อย่างไรก็ดี หากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้นในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ โดยผู้บริโภคจะกลับมาบริโภคสินค้าและบริการโดดเด่นขึ้นในปลายไตรมาสที่ 3 ของปีนี้เป็นต้นไป ซึ่ง ม.หอการค้าไทย ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้ จะขยายตัวได้ในกรอบ 3.0-3.5%
นายธนวรรธน์ ยังเชื่อว่า จากสถานการณ์ในขณะนี้หากไม่มีเหตุการณ์รุนแรงที่เป็นปัจจัยลบเข้ามาเพิ่มเติม เช่น ภัยพิบัติทางธรรมชาติ สงครามรัสเซีย-ยูเครนรุนแรงขึ้น ความขัดแย้งระหว่างจีน-ไต้หวัน-สหรัฐ ราคาน้ำมันสูงเกินเหตุ ก็จะไม่เป็นเหตุที่ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับเป็นขาลง ในขณะที่เศรษฐกิจไทยไม่มีแรงกดดันมากจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) รวมทั้งการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เนื่องจากจะเริ่มเห็นอัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลง
"การจับจ่ายใช้สอยของประชาชน อาจยังไม่คึกคักมากนักในช่วงไตรมาส 3 แต่จะค่อยๆ ดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 4 เพราะมีภาพของเศรษฐกิจที่ปรับตัวโดดเด่นขึ้น" นายธนวรรธน์กล่าว
พร้อมมองว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% จะไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมาก เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ รวมทั้งธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ต่างพยายามช่วยตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไว้จนถึงสิ้นปี จึงทำให้การส่งผ่านต้นทุนทางการเงินไปสู่ลูกค้าไม่ได้เป็นแบบรวดเร็วในทันที ดังนั้นจึงไม่ได้มีผลกระทบให้ต้นทุนค่าครองชีพสูงมากขึ้นจนบั่นทอนกำลังซื้อของประชาชน
"สัญญาณของดอกเบี้ย คงไม่ได้ส่งผ่านไปถึงผู้บริโภคอย่างรวดเร็ว ดังนั้นผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อระบบเศรษฐกิจจึงมีไม่สูง หาก กนง.จะขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งที่เหลือของปีนี้ ก็จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจเพียง 0.1-0.2% เท่านั้น ขณะที่โครงการคนละครึ่ง เฟส 5, การส่งออกที่ยังเติบโตได้ดี จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปี ที่คาดว่า 8-10 ล้านคน ก็น่าจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวขึ้นได้อย่างดี" นายธนวรรธน์ กล่าว