น.ส.โชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากนางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ให้เข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียนบวกสาม (จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น) ครั้งที่ 39 และการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียนบวกแปด (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา และรัสเซีย) หรือ East Asia Summit (EAS) ครั้งที่ 11 ณ ราชอาณาจักรกัมพูชา เพื่อเดินหน้าสร้างความร่วมมือและส่งเสริมการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ตลอดจนเตรียมการสำหรับการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจบวกสามและ EAS ในเดือนก.ย.นี้
น.ส.โชติมา กล่าวว่า ที่ประชุมอาเซียน+3 ได้รับทราบข้อเสนอแนะของสภาธุรกิจเอเชียตะวันออก (EABC) เรื่องแนวโน้มและมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด-19 และพร้อมให้การสนับสนุนภาคเอกชนเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจระหว่างอาเซียน+3 ให้กลับมาเติบโตอีกครั้ง อาทิ การอำนวยความสะดวกทางการค้า การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) และการให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้สิทธิประโยชน์ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ยังได้หารือการจัดทำแผนงานความร่วมมือด้านเศรษฐกิจอาเซียน+3 ปี 2566-2567 ซึ่งจะช่วยส่งเสริมความร่วมมือทางการค้า เศรษฐกิจ และการลงทุนระหว่างกันอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น อาทิ การส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างอาเซียนกับคู่เจรจา โดยเฉพาะ FTA อาเซียน-จีน อาเซียน-ญี่ปุ่น และอาเซียน-เกาหลีใต้ รวมถึงความตกลง RCEP การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล MSMEs และพลังงานและเศรษฐกิจสีเขียว โดยตั้งเป้าที่จะรับรองแผนงานดังกล่าวในช่วงการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจ+3 ในเดือน ก.ย.นี้
น.ส.โชติมา กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการประชุมอาเซียน+8 (EAS) ได้หารือแนวทางการพัฒนาและการฟื้นฟูเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออก หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเห็นว่าประเทศสมาชิก EAS ต้องปรับห่วงโซ่อุปทานให้เป็นระบบดิจิทัล พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล สนับสนุนกลุ่มวิสาหกิจ Start-ups และอำนวยความสะดวกทางการค้าดิจิทัล เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันของห่วงโซ่อุปทานโลก หรือเครือข่ายการผลิตระหว่างประเทศ
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เน้นย้ำบทบาทความเป็นแกนกลางของอาเซียนในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ตลอดจนมุมมองของอาเซียนต่อแนวคิดอินโด-แปซิฟิก และให้ความสำคัญในการเสริมสร้างการบูรณาการทางเศรษฐกิจ และลดช่องว่างระดับการพัฒนาในภูมิภาค ผ่านความร่วมมือหุ้นส่วนแบบยุทธศาสตร์รอบด้าน การยกระดับความตกลงการค้าเสรี และการส่งเสริมการค้าการลงทุนในภูมิภาค ซึ่งจะช่วยสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจที่เข้มแข็งและความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจในการรับมือกับวิกฤตต่างๆ ทั้งด้านสาธารณสุข ด้านอาหาร ด้านพลังงาน และภาวะวิกฤติเงินเฟ้อ รวมทั้งให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียตะวันออก