ธนาคารกสิกรไทย ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทสัปดาห์ถัดไป (15-19 ส.ค.) ที่ระดับ 34.70-35.60 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/65 ของไทย ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์สหรัฐฯ-จีนในประเด็นไต้หวัน และถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัย ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์กและสาขาฟิลาเดลเฟียเดือนส.ค. ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้าน การผลิตภาคอุตสาหกรรม ยอดค้าปลีก ยอดขายบ้านมือสองเดือนก.ค. และรายงานการประชุมเฟด เมื่อวันที่ 26-27 ก.ค. นอกจากนี้ ตลาดยังรอติดตามตัวเลขเงินเฟ้อเดือนก.ค. และจีดีพีไตรมาส 2/65 ของญี่ปุ่นและยูโรโซน รวมถึงข้อมูลเศรษฐกิจเดือนก.ค.ของจีน อาทิ ดัชนีราคาบ้าน การผลิตภาคอุตสาหกรรม และยอดค้าปลีก
ทั้งนี้ เงินบาทผันผวนในกรอบแข็งค่า และแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบประมาณ 1 เดือนครึ่ง ที่ 35.16 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงปลายสัปดาห์ โดยการแข็งค่าของเงินบาทสอดคล้องกับหลายสกุลเงินในภูมิภาค ประกอบกับมีปัจจัยหนุนเพิ่มเติมจากสถานะซื้อสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ อย่างไรก็ดี เงินบาทอ่อนค่าลงช่วงสั้นๆ หลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ไปที่ระดับ 0.75% และส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปในระยะข้างหน้า
เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นอีกครั้งในช่วงก่อนวันหยุดของตลาดในประเทศ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ อ่อนค่าลงตามการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ หลังจากตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนก.ค. ชะลอลงมาที่ 8.5% YoY (ต่ำกว่าตลาดคาดที่ 8.7% YoY) ซึ่งสนับสนุนมุมมองว่า อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ น่าจะผ่านพ้นจุดสูงสุดแล้ว และอาจทำให้เฟดไม่จำเป็นต้องเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในระยะข้างหน้า
โดยในวันพฤหัสบดีที่ 11 ส.ค. 2565 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ระดับ 35.17 (หลังแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 1 เดือนครึ่งที่ 35.16) เทียบกับระดับ 35.57 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (5 ส.ค.) ขณะที่ระหว่างวันที่ 8-11 ส.ค. นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 14,431 ล้านบาท ขณะที่มีสถานะเป็น NET INFLOW เข้าตลาดพันธบัตร 8,487 ล้านบาท (ซื้อสุทธิพันธบัตร 8,997 ล้านบาท แต่มีตราสารหนี้ที่หมดอายุ 510 ล้านบาท)