น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้ (15 ส.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม จะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อติดตามความคืบหน้าโครงการลงทุนและมาตรการเชิงสังคมที่สำคัญ ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญและกำชับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการขับเคลื่อนอีอีซีควบคู่ไปกับการรับฟังข้อเสนอแนะหน่วยงานต่างๆ เพื่อดูแลสังคม สิ่งแวดล้อม และการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ให้ได้รับประโยชน์จากโครงการพัฒนาต่างๆ
"อีอีซีเป็นพื้นที่พัฒนาเชิงยุทธศาสตร์เศรษฐกิจที่รัฐบาลให้ความสำคัญ โดยจัดมาตรการส่งเสริมและจูงใจให้เกิดการลงทุนควบคู่ไปกับการดูแลสังคม สิ่งแวดล้อม การสร้างโอกาสให้กับคนในพื้นที่ให้ได้รับประโยชน์จากโครงการพัฒนาต่างๆ ซึ่งในวันพรุ่งนี้นายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอีอีซีที่ทำเนียบรัฐบาลจะมีการติดตามความคืบหน้าทั้งโครงการลงทุนและมาตรการเชิงสังคมที่สำคัญ" น.ส.ไตรศุลี กล่าว
ทั้งนี้ รัฐบาลได้รับรายงานผลการศึกษา พร้อมข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา เรื่องแนวทางการเฝ้าระวังและป้องกันผลกระทบทางสังคม สิ่งแวดล้อมและสุขภาพในระดับท้องถิ่นกรณีอีอีซี และได้ให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) รับเรื่องไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ข้อเสนอแนะได้ไปสู่การปฏิบัติ
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ตามรายงานดังกล่าวได้วิเคราะห์ถึงสถานการณ์เชิงลบในอนาคตที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่อีอีซี อาทิ การขยายตัวของเมือง การสูญเสียที่ดินทำกิน การเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ ปัญหาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ความเพียงพอขอทรัพยากรน้ำ ความกังวลต่อการบริหารจัดการด้านมลพิษ พร้อมมีข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อาทิ การมีแนวทางจัดการเชิงรุกเน้นผลกระทบล่วงหน้า นำแนวทางการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์(Strategic Environmental Assessment : SEA)เป็นเครื่องมือสำคัญในการตัดสินใจเชิงนโยบาย ส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชน ส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ในการตัดสินใจ ประเมินผลในเรื่องสำคัญที่ส่งผลต่อวิถีชีวิต เพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการเกิดความรับผิดชอบในมิติต่างๆ พัฒนาศักยภาพประชาชนให้สามารถรับกับการเติบโตของพื้นที่ได้
ทั้งนี้ สกพอ.ได้หารือกับหน่วยงานเกี่ยวข้องตามที่รัฐบาลมอบหมายแล้วเห็นด้วยกับข้อเสนอของ กมธ.การแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา ซึ่งหลายประเด็นสอดคล้องกับแผนงานของ สกพอ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทันที ส่วนข้อเสนอแนะที่เพิ่มเติมเข้ามาและเป็นประโยชน์กับคนในพื้นที่จะได้ปรับไปอยู่ในแผนงานต่อไป