นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รมช.พาณิชย์ มองสถานการณ์ข้าวในปี 51 ว่าตลาดยังเป็นของผู้ขาย เนื่องจากประเทศผู้ผลิตข้าวสำคัญหลายประเทศเกิดปัญหาภัยธรรมชาติ ผลผลิตลดลง ประเทศผู้ส่งออกซึ่งเป็นคู่แข่งกับไทยหลายประเทศ เช่น เวียดนาม, อินเดีย ได้กำหนดมาตรการควบคุมการส่งออกอย่างเข้มงวดทำให้ผู้นำเข้าข้าวทั่วโลกหันมาสั่งซื้อข้าวจากไทยเพิ่มขึ้น
ปัจจัยดังกล่าวทำให้ราคาข้าวส่งออก(FOB) ขยับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ต้นปีถึงสัปดาห์ละ 500- 600 บาท/ตัน และปริมาณการส่งออกสูงขึ้นตั้งแต่เดือนต.ค.50-ก.พ.51 สามารถส่งออกได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านตันทุกเดือน
"ปริมาณความต้องการข้าวในตลาดโลกยังคงมีปริมาณสูง ประกอบกับในช่วงเดือนนี้ผู้ส่งออกข้าวไทยชนะการประมูลข้าวที่ฟิลิปปินส์และญี่ปุ่นในปริมาณเกือบ 3 แสนตัน และประเทศผู้ส่งออกคู่แข่งสำคัญของไทยยังไม่ยกเลิกมาตรการควบคุมการส่งออก จึงเชื่อว่าแนวโน้มตลาดข้าวไทยก็ยังแจ่มใสไปจนถึงสิ้นปี" นายวิรุฬ ระบุ
รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า สถานการณ์ข้าวที่เป็นตลาดของผู้ขายที่มีไม่บ่อยครั้งเช่นนี้ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ชาวนา พ่อค้าคนกลาง โรงสี และผู้ส่งออกจะต้องร่วมมือกันเพื่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันอย่างสมดุลทุกฝ่าย ไม่ควรกักตุนเก็งกำไรจนทำให้ระบบการค้าการส่งออกสะดุด เกิดความเสี่ยงสูงต่อการรับคำสั่งซื้อใหม่ๆ จนทำให้ไม่มีตลาดรองรับผลผลิตข้าวนาปรังฤดูใหม่ที่จะออกสู่ตลาดในช่วงเดือน มี.ค.-พ.ค.51 ซึ่งจะมีผลทำให้ยอดปริมาณการส่งออกในไตรมาสที่ 2 ลดลง และราคาข้าวทั้งภายในและต่างประเทศอ่อนตัวลงอย่างรวดเร็วซึ่งจะไม่เป็นผลดีกับทุกฝ่าย
ส่วนสถานการณ์ความร้อนแรงของราคาข้าวในปัจจุบันที่อาจเกิดปัญหาเก็งกำไรและมุ่งแต่ส่งออกอย่างเดียว จนนำไปสู่ปัญหาขาดแคลนข้าวเพื่อการบริโภคในประเทศและทำให้ข้าวในประเทศราคาสูงขึ้นนั้น รมช.พาณิชย์ ระบุว่า ได้กำชับและสั่งการให้กรมการค้าต่างประเทศติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด และกำหนดมาตรการเพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างปริมาณการส่งออกและการบริโภคภายในและให้เตรียมแนวทางป้องกันและแก้ไขในกรณีที่เกิดปัญหาไว้แล้ว
"คนไทยบริโภคข้าวเดือนละ 7-8 แสนตัน หรือปีละประมาณ 9 ล้านตัน ส่งออกไปขายต่างประเทศเดือนละ 7-8 แสนตัน เฉลี่ยปีละ 8-9 ล้านตัน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะดูแลให้การส่งออกและบริโภคภายในให้อยู่ในระดับปกติในแต่ละเดือน หากปริมาณส่งออกสูงกว่าปริมาณปกติมากก็จะมีมาตรการมาปรับให้เกิดความสมดุลเพื่อป้องกันปัญหาได้ทันที ซึ่งขณะนี้รัฐบาลก็ยังมีข้าวในสต๊อกอีก 2 ล้านตันซึ่งจะสามารถสำรองการบริโภคภายในประเทศเมื่อเกิดภาวะปริมาณข้าวในตลาดตึงตัว" นายวิรุฬ กล่าว
อย่างไรก็ดี จากรายงานผลการสำรวจผลผลิตข้าวนาปรังปี 51 จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ล่าสุด ยืนยันว่าผลจากภาวะราคาข้าวที่สูงขึ้นจูงใจให้เกษตรกรชาวนาเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกมากขึ้นกว่า 2 ล้านไร่ ทำให้ผลผลิตข้าวนาปรังปีนี้สูงขึ้น 20% จาก 6 ล้านตันเป็น 7 ล้านตันข้าวเปลือก และได้เริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนมี.ค-ปลายพ.ค. ดังนั้นปัญหาการขาดแคลนข้าวบริโภคภายในจึงไม่น่าเป็นห่วง
--อินโฟเควสท์ โดย พณฦ/กษมาพร/ธนวัฏ โทร.0-2253-5050 ต่อ 325 อีเมล์: tanawat@infoquest.co.th--