(เพิ่มเติม) สภาพัฒน์ ขยับช่วงคาดการณ์ GDP ปี 65 เป็นโต 2.7-3.2% จากเดิม 2.5-3.5%

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 15, 2022 11:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

(เพิ่มเติม) สภาพัฒน์ ขยับช่วงคาดการณ์ GDP ปี 65 เป็นโต 2.7-3.2% จากเดิม 2.5-3.5%
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 65 จะขยายตัวในช่วง 2.7-3.2% โดยมีค่ากลางการประมาณการอยู่ที่ 3.0% เท่ากับการประมาณครั้งที่ผ่านมา โดยขยายตัวสูงขึ้นจาก 1.5% ในปี 64 และเป็นการปรับช่วงประมาณการให้แคบลงจาก 2.5-3.5%
  • อัตราเงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้นมาในช่วง 6.3-6.8% จากเดิมคาด 4.2-5.2%
  • ดุลบัญชีเดินสะพัดคาดว่าจะขาดดุล 1.6% ของ GDP จากเดิมคาดขาดดุล 1.5% ของ GDP

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า การปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 65 ในกรอบบนจากเดิม 3.5% ลงมาเหลือ 3.2% เนื่องจากเหตุผลในเรื่องปัจจัยด้านปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ หรือความขัดแย้งระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังคงมีอยู่ รวมทั้งสถานการณ์ความขัดแย้งใหม่ที่เกิดขึ้นระหว่างสหรัฐอเมริกา-จีน-ไต้หวัน อันจะนำมาซึ่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ท่ามกลางแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นหลังจากธนาคารกลางของหลายประเทศเริ่มใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น จึงทำให้ต้องปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในกรอบบนของปีนี้ ลดลงมาเหลือ 3.2% จากเดิมที่ 3.5% ในขณะที่ค่ากลางยังคงเดิมที่ 3.0%

(เพิ่มเติม) สภาพัฒน์ ขยับช่วงคาดการณ์ GDP ปี 65 เป็นโต 2.7-3.2% จากเดิม 2.5-3.5%

นอกจากนี้ สภาพัฒน์ยังได้ปรับสมมติฐานสำคัญที่นำมาใช้ในการประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ใหม่ ได้แก่ 1. เศรษฐกิจโลก ขยายตัว 3.3% (เดิม 3.5%) 2.ปริมาณการค้าโลก ขยายตัว 4.3% (เดิม 4.7%) 3.อัตราแลกเปลี่ยน 34.50-35.50 บาท/ดอลลาร์ (เดิม 33.30-34.30 บาท/ดอลลาร์) 4.รายรับจากนักท่องเที่ยว 6.6 แสนล้านบาท (เดิม 5.7 แสนล้านบาท) คาดจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 9.5 ล้านคน (เดิม 7 ล้านคน)

ทั้งนี้ ปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยในปี 65 ที่สำคัญ ได้แก่

1. การขยายตัวในเกณฑ์ดีของการบริโภคภายในประเทศ ตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด และความคืบหน้าของการกระจายวัคซีน โดยเฉพาะเข็มกระตุ้น ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศมีแนวโน้มฟื้นตัวและกลับมาเป็นปกติมากขึ้น

2. การปรับตัวดีขึ้นของภาคการท่องเที่ยว ตามการผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังการยกเลิกระบบการลงทะเบียน Thailand Pass สำหรับผู้ที่เดินทางเข้าประเทศตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.65 ประกอบกับการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการเดินทางเข้าประเทศของประเทศต้นทางสำคัญ และการเปิดด่านทางบกของไทย ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้นอย่างมาก

3. การขยายตัวในเกณฑ์ดีของภาคการเกษตร ในช่วงครึ่งแรกของปี 65 ตามการขยายตัวของผลผลิตหมวดพืชผลที่สำคัญ ได้แก่ ข้าวเปลือก อ้อย ถั่วเหลือง และผลไม้ ขณะเดียวกันราคาสินค้าเกษตรขยายตัวได้สูง ตามการเพิ่มขึ้นของราคาในตลาดโลก โดยสินค้าเกษตรสำคัญที่ราคาเพิ่มขึ้น เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางแผ่นดิบ ปาล์มน้ำมัน และมันสำปะหลัง ซึ่งส่งผลให้รายได้เกษตรกรโดยรวมเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ดี ในปี 65 เศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงและข้อจำกัดที่ต้องติดตาม ได้แก่

1. ความเสี่ยงจากการชะลอตัวมากกว่าที่คาดของเศรษฐกิจโลก และความผันผวนในตลาดการเงินโลก โดยมีเงื่อนไขความเสี่ยงที่ต้องติดตามและประเมินอย่างใกล้ชิด ประกอบด้วย 1) ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่สำคัญระหว่างรัสเซีย-ยูเครน, ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกา-จีน-ไต้หวัน 2) แนวโน้มการดำเนินนโยบายทางการเงินที่เข้มงวด โดยการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แรงและเร็วของธนาคารกลางประเทศต่าง ๆ

2. ภาระหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง ท่ามกลางแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของภาระดอกเบี้ย และแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่สูง ขณะเดียวกัน ตลาดแรงงานยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่เมื่อเทียบกับช่วงก่อนการระบาดของโควิด

3. ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการระบาดของโรคฝีดาษลิง (Monkeypox)

4. ความเสี่ยงจากสถานการณ์อุทกภัย โดยยังคงมีความเสี่ยงที่จะเกิดพายุขึ้นในช่วงปลายฤดูฝน ซึ่งจะนำไปสู่สถานการณ์อุทกภัย และส่งผลกระทบทั้งในพื้นที่การเกษตร พื้นที่อุตสาหกรรม และที่อยู่อาศัยของประชาชน

เลขาธิการสภาพัฒน์ ยังกล่าวถึงการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปี 65 ว่า ควรให้ความสำคัญดังนี้

1. การติดตามและดูแลกลไกตลาด เพื่อให้ราคาสินค้าเคลื่อนไหวสอดคล้องกับต้นทุนการผลิต ควบคู่ไปกับการดูแลกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มความเปราะบางต่อการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้า และภาระดอกเบี้ยแบบมุ่งเป้า โดยไม่ซ้ำซ้อนกับมาตรการที่มีอยู่เดิมเพื่อลดผลกระทบต่อภาระทางการคลังที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ท่ามกลางความเสี่ยงของความผันผวนในระบบเศรษฐกิจการเงินโลกที่อยู่ในเกณฑ์สูง

2. การดูแลการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร โดยให้ความสำคัญกับการบรรเทาผลกระทบจากปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบและต้นทุนการผลิตสูง รวมทั้งการเตรียมป้องกันปัญหาอุทกภัย

3. การดูแลและแก้ไขปัญหาหนี้สินของลูกหนี้รายย่อย ท่ามกลางแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะส่งผลต่อภาระหนี้สินของครัวเรือน และภาคธุรกิจให้เพิ่มขึ้น

4. การรักษาแรงขับเคลื่อนจากการส่งออก โดยการเร่งหาตลาดใหม่ และเพิ่มสัดส่วนการส่งออกไปยังประเทศที่เศรษฐกิจฟื้นตัวชัดเจน รวมทั้งเร่งตัดสินใจในการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) โดยมุ่งเน้นผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ

5. การสนับสนุนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและบริการเกี่ยวเนื่อง โดยขอความร่วมมือธนาคารพาณิชย์พิจารณามาตรการสินเชื่อเพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ในช่วงที่การท่องเที่ยวกำลังฟื้นตัว รวมทั้งเร่งส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวในกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูง และกลุ่มพำนักระยะยาว

6. การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน เร่งแก้ปัญหาที่นักลงทุนและผู้ประกอบการต่างประเทศเห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและการประกอบธุรกิจ รวมทั้งส่งเสริมการลงทุนในเขตพื้นที่ EEC โดยเฉพาะการลงทุนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดัคเตอร์ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ไฟฟ้า และแบตเตอรี่ เป็นต้น

7. การขับเคลื่อนการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ โดยเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณปี 65 ให้ได้ไม่น้อยกว่า 92.5% ของกรอบงบประมาณทั้งหมด และงบลงทุนรัฐวิสาหกิจให้ได้ไม่น้อยกว่า 65% รวมทั้งการเบิกจ่ายโครงการตามพ.ร.ก.เงินกู้วงเงิน 1 ล้านล้านบาท และ 5 แสนล้านบาทในส่วนที่เหลือ

8. การติดตาม เฝ้าระวัง และเตรียมมาตรการรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง

นายดนุชา ยังกล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 65 ว่า มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากครึ่งปีแรกที่ขยายตัวในระดับ 2.4% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการเร่งตัวขึ้นของการบริโภคภาคเอกชน และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ในขณะที่การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของภาคการผลิต โดยเฉพาะการผลิตภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวและภาคการเกษตร

อย่างไรก็ตาม ภาระหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง ท่ามกลางแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของภาระดอกเบี้ย รวมทั้งความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ราคาพลังงาน สถานการณ์อุทกภัย และการระบาดของไวรัสโควิดและฝีดาษลิง ยังเป็นข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เศรษฐกิจไทยทั้งปีขยายตัวต่ำกว่าการคาดการณ์ได้ ซึ่งจะต้องติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวด้วยว่า จากภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะทำให้ต้นทุนของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจเพิ่มสูงขึ้นนั้น แม้กระทรวงการคลังจะได้ขอความร่วมมือไปยังสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ให้ช่วยตรึงดอกเบี้ยไว้ให้นานที่สุด เพื่อลดผลกระทบจากดอกเบี้ยขาขึ้น และเพื่อช่วยให้เศรษฐกิจไทยยังสามารถฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง ขณะที่ในส่วนของธนาคารพาณิชย์ก็คงต้องติดตามดูเช่นกัน

"ถ้าไม่ได้ทำอะไรเลย ก็จะทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอลงบ้าง แต่ตอนนี้กิจกรรมทางเศรษฐกิจก็กลับมาใกล้เคียงปกติแล้ว แต่อย่างไรก็ดี อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น จะต้องมีมาตรการเข้ามาช่วยเหลือ เพื่อให้เศรษฐกิจยังเดินหน้าต่อได้" นายดนุชา ระบุ

สำหรับสถานการณ์เงินเฟ้อนั้น เชื่อว่าจะเริ่มทยอยปรับลดลงในช่วงครึ่งปีหลัง โดยทั้งปีคาดกรอบเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 6.3-6.8% ซึ่งยังถือว่าไม่ได้อยู่ในระดับสูงเหมือนประเทศอื่นๆ ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อของไทยที่ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ล้วนเป็นผลมาจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานเป็นหลัก แต่ขณะนี้แนวโน้มราคาพลังงานโลกเริ่มผ่อนคลายลง ซึ่งจะทำให้เงินเฟ้อชะลอตัวลงได้

"โดยรวมๆ แล้ว คิดว่าเงินเฟ้อจะชะลอตัวลงได้ในช่วงถัดไป เพราะความผันผวนจากราคาน้ำมันเริ่มลดลง แต่ก็ยังต้องดูเรื่องราคาก๊าซ โดยเฉพาะ LNG เพราะจะมีผลกระทบกับค่าไฟฟ้า ซึ่งใน 2 ตัวนี้ขึ้นกับสถานการณ์โลกเป็นหลัก เพราะหากมีความขัดแย้งเกิดขึ้น ราคาน้ำมันก็มีโอกาสพุ่งสูงได้เช่นกัน เป็นเรื่องที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด" นายดนุชา กล่าว

เลขาธิการสภาพัฒน์ ยังกล่าวถึงเม็ดเงินที่ยังคงเหลือใน พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทว่า ขณะนี้ยังมีวงเงินคงเหลืออีกราว 4 หมื่นกว่าล้านบาท ซึ่งในก้อนนี้ยังต้องนำไปใช้จ่ายในด้านการรักษาพยาบาล และค่ายาสำหรับผู้ป่วยโควิดในอนาคต ซึ่งอาจทำให้มีเม็ดเงินที่พอจะเหลือไปใช้สำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ไม่มากนัก ดังนั้น การทำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะออกมาในช่วงหลังจากนี้ จะต้องเป็นมาตรการที่ตรงเป้าหมายและเฉพาะกลุ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการช่วยเหลือภาคครัวเรือน และผู้ประกอบธุรกิจ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นดอกเบี้ย แต่ทั้งนี้ต้องคำนึงด้วยว่ามาตรการที่ออกมา จะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อภาคการคลังในระยะถัดไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ