นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 4/2565 ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่า ที่ประชุมฯ รับทราบ เป้าหมายของอีอีซีในช่วง 5 ปีต่อไป (66-70) โดยมีเป้าหมายการลงทุน 2.2 ล้านล้านบาท จากเดิมวางเป้าหมายไว้ในช่วงปี 65-69 โดยจะมีเงินลงทุนประมาณปีละ 400,000-500,000 ล้านบาท ซึ่งมีแผนต่อยอดโครงสร้างพื้นฐาน แบ่งเป็น
1. การต่อยอดโครงสร้างพื้นฐาน
- เมืองการบินภาคตะวันออกและการพัฒนาพื้นที่ 30 กม.รอบสนามบิน 100,000 ล้านบาท
- TOD ตามสถานีรถไฟฟ้าหลัก 100,000 ล้านบาท
2. การดึงดูดอุตสาหกรรมเป้าหมาย
- ยานยนต์สมัยใหม่ 40,000 ล้านบาท/ปี - ดิจิทัลและอิเล็กทรอนิกส์ 50,000 ล้านบาท/ปี - การแพทย์และสุขภาพ 30,000 ล้านบาท/ปี - การขนส่งและโลจิสติกส์ 30,000 ล้านบาท/ปี
- เกษตรสมัยใหม่และอาหาร
- อุตสาหกรรมเป้าหมายอื่นๆ
3.ยกระดับชุมชนและประชาชน
- พัฒนาเศรษฐกิจชุมชนถึงระดับหมู่บ้าน
- พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อหารายได้ (ตลาดสด/e-commerce)
- การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ทุกระดับ
- การศึกษา/การสาธารณสุขพื้นฐาน/ สิ่งแวดล้อม สาธารณูปโภค
ทั้งนี้คาดว่า การลงทุนใน EEC จะขยายตัวได้ 7-9% ต่อปี ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ประมาณ 5% ตั้งแต่ปี 67 เป็นต้นไป
นายคณิศ กล่าวถึง ปัจจัยพื้นฐานที่ทำให้อีอีซีก้าวกระโดดใน 5 ปี ข้างหน้า (66-70) ประกอบด้วย
1. 5G ของไทยเร็วที่สุด ครอบคลุมมากที่สุดใน อาเซียน นำหน้าประเทศอื่นๆ ประมาณ 2 ปี ทำให้บริษัทชั้นนำด้านดิจิตัลหันมาลงทุนใน EEC และอนาคตจะเป็นธุรกิจไม่น้อยกว่า 100,000 ล้านบาทต่อปี
2. เรื่องการผลิตยานยนต์สมัยใหม่ EV ซึ่งนโยบาย EV ของรัฐบาลไทยนำหน้าประเทศอื่นๆ ในอาเซียน แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยตั้งใจจะเป็น Hub การผลิตของอาเซียนต่อไป ทำให้บริษัทรถยนต์ที่ตั้งใจจะผลิต EV เข้ามาลงทุนในอีอีซี แล้ว ทั้งจากญี่ปุ่น จีน และยุโรป รวมทั้งธุรกิจแบตเตอรี่ ระบบไฟฟ้า และ ชิ้นส่วนรถ EV
3. เทคโนโลยีการแพทย์ และ Wellness ซึ่ง EEC ได้จัดระบบสาธารณสุขและการแพทย์ลงตัวโดยแบ่งงานกันทำ ทั้งในภาครัฐและเอกชน รวมทั้งการเปิดฉากการพัฒนาการแพทย์สมัยใหม่ทั้ง จีโนมิกส์ และ Digital Hospital ทำให้มีความ สนใจการลงทุนทางการรักษาพยาบาลระดับสูง ระบบที่เชื่อมโยงดังกล่าวจะนำไปสู่เครือข่ายธุรกิจ Wellness ทั้ง รพ.ชั้นนำ เวชสำอาง ศูนย์พักฟื้น ธุรกิจโรงแรมเพื่อการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และการแพทย์ อุตสาหกรรมยา อุปกรณ์การแพทย์
4. ศูนย์นวัตกรรมสำคัญ เริ่มดำเนินการ โดย เขตส่งเสริมนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก EECi เสร็จระยะแรก กำลังทำหน้าที่เป็นศูนย์วิจัย พัฒนา และถ่ายทอดความรู้ เกษตร ดิจิทัล หุ่นยนต์ โดรน EV แบตเตอรี่ และ เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัลประเทศไทย EECd ในส่วน Digital Valley เปิดดำเนินการแล้ว และจะรับการลงทุน DATA Center แรกปลายปี 65
"โครงสร้างพื้นฐาน 4 โครงการหลักที่เป็นแรงผลักดันก็คงเสร็จในปี 68- 69 ทั้งหมดทำให้ EEC ก้าวเข้าสู่ระยะการขยายตัวที่สำคัญในปี 69 เป็นต้นไป"นายคณิศ กล่าว
นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ได้รับทราบ ความก้าวหน้าผลการดำเนินงานของ EEC ในช่วง 4 ปีแรก (61-65) สรุปรายละเอียดสำคัญ ดังนี้
1. เกิดการอนุมัติงบลงทุนสูงถึง 1.8 ล้านล้านบาท เกินเป้าหมาย 1.7 ล้านล้านบาทใน 5 ปีที่เป็นแผนแรกของ EEC
2. สามารถดึงเทคโนโลยีใหม่ผ่านการลงทุน โดย 4 ปีที่ผ่านมา การอนุมัติการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 S-curve มีสัดส่วน 70% ของการส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด และ 5 New S-Curve มีสัดส่วนการลงทุน 36% และเพิ่มขึ้นเป็น 49% ในช่วงไตรมาสแรกของปี 65 นี้
3. สร้างระบบการพัฒนาบุคลากรตามความต้องการของตลาด (Demand Driven) แก้ปัญหาขาดแคลนบุคลากรที่ทำงานกับนวัตกรรมใหม่ อบรมไปได้แล้ว 16,114 คน สิ้นปี 66 จะดำเนินการได้ 100,000 คน
4. ผลประโยชน์ตกถึงประชาชน และมีระบบดูแลอย่างยั่งยืน
- ผลประโยชน์ทางตรง โครงสร้างพื้นฐานระดับโลก ระบบสาธารณสุขทันสมัย สาธารณูปโภค (น้ำ ไฟฟ้า ขยะ) ทันสมัยเพียงพอ มีโอกาสมีงานทำ รายได้ดี
- การพัฒนาตรงถึงประชาชน พัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ยกระดับคุณภาพชีวิต บูรณาการการลงทุนในชุมชน ผ่านแผนเกษตร แผนพัฒนาเชิงพื้นที่ Neo Pattaya-บ้านฉาง บ้านอำเภอ มาบตาพุด ระยอง
- โครงการลงถึงระดับชุมชน เกิดการมีส่วนร่วมทั้ง พลังสตรีดูแลสิ่งแวดล้อม อีอีซีสแควร์ บัณฑิตอาสา เยาวชนต้นแบบ โครงการต้นแบบสวนภาษาอังกฤษ และจีน หลักสูตรอีอีซีกับการบริหาร อปท.
- โครงการสินเชื่อพ่อค้า แม่ขาย และ SMEs หลังสถานการณ์โควิด กับ 9 สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (ปล่อยไปแล้ว 51,420 ราย เป็นสินเชื่อ 34,548 ล้านบาท)