นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กล่าวว่า ไม่ห่วงการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศหลังจากเศรษฐกิจสหรัฐถดถอยและธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ปรับลดดอกเบี้ยลงอย่างต่อเนื่อง เพราะมองว่าสภาพคล่องในตลาดเงินโลกในขณะนี้หดหายไปมาก โดยในเดือนม.ค.51 เงินทุนเคลื่อนย้ายของโลกลดเหลือ 20 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จาก 70 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงกลางปี 50 ซึ่งเป็นผลมาจากสถาบันการเงินต่างระมัดระวังการปล่อยกู้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ธปท.ก็ยังติดตามภาวะการไหลเข้า-ออกของเงินทุนต่างประเทศอย่างใกล้ชิด โดยสั่งการให้สถาบันการเงินรายงานภาวะเงินทุนไหลเข้า-ออกทุกสิ้นวัน
นางธาริษา กล่าวว่า ขณะนี้ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของไทยยังไม่มีประเด็นที่น่าเป็นห่วง หลังจากที่ ธปท.ได้ติดตามภาคเศรษฐกิจสำคัญใน 7-8 ด้าน ก็ยังไม่พบสัญญาณการเกิดเศรษฐกิจฟองสบู่ และยังมีความแข็งแกร่งเพียงพอที่จะรองรับผลกระทบจากภายนอกได้ โดยเห็นการเดินหน้าของเศรษฐกิจตั้งแต่ไตรมาส 4/50
"ผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก ไทยได้รับผลกระทบบ้าง แต่เศรษฐกิจเริ่มเดินตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีก่อน จึงลดผลกระทบจากข้างนอกได้ ดังนั้นเราก็สบายใจ"นางธาริษา กล่าว
สำหรับภาวะฟองสบู่ที่อาจเกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจนั้น มักจะเกิดขึ้น 2 กรณี คือ หากอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน หรือ หากอัตราดอกเบี้ยเหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจขณะนี้ แต่ก็ยังสามารถเกิดฟองสบู่ในบางภาค ตัวอย่างเช่น ที่ดินใน จ.ภูเก็ตแพงมาก ก็อาจทำให้เกิดภาวะฟองสบู่ในจ.ภูเก็ต ซึ่งเป็นกรณีที่ยากจะใช้นโยบายดอกเบี้ยเข้าไปกำกับดูแลเฉพาะจุดได้
ที่ผ่านมาพบว่าภาวะฟองสบู่อ่อนแรงลงในปีก่อน เนื่องจากภาวะสินเชื่อโดยรวมของธนาคารพาณิชย์มีการขยายตัวไม่ดีนัก แต่สินเชื่อส่วนบุคคลยังขยายได้ จึงไม่น่าเป็นห่วง แม้ว่าจะมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL)ในภาคสินเชื่อส่วนบุคคลสูงขึ้นบ้างเพราะเศรษฐกิจโดยรวมในปี 50 ที่เติบโตน้อย แต่ระดับของ NPL ดังกล่าวก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่น่าตกใจ จึงยังไม่จำเป็นต้องมีมาตรการใด ๆ ออกมาดูแลเป็นพิเศษ
นางธาริษา ยังกล่าวว่า จากที่ได้เข้าร่วมประชุม South East Asian Central Banks (Seacen)เมื่อ 21-22 มี.ค. มีความเห็นตรงกันว่า ในยุคนี้การใช้นโยบายการเงินมีข้อจำกัดมากขึ้น เพราะต้องพยายามรักษาทั้งเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไปพร้อมกัน ดังนั้น จึงต้องชั่งน้ำหนักให้มีความเหมาะสม เพราะมาตรการเดียวจะดูแลทั้งสองด้านไม่ได้ จำเป็นต้องมีมาตรการอื่นมาช่วยเช่น มาตรการด้านการคลังที่จะเข้ามาดูแลในด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจ
ที่ประชุมยังมองว่าเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาขณะค่อนข้างแข็งแกร่ง ทั้งเศรษฐกิจโดยรวมและสถาบันการเงิน มีสภาพคล่องและเงินทุนสูงมาก รวมทั้งมีการกำกับดูแลที่เข้มแข็ง ขณะที่ผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐมีอยู่บ้างในด้านการส่งออก ทำให้แบงก์กลางทุกแห่งค่อนข้างมั่นใจว่าจะสามารถรองรับผลกระทบที่เกิดจากภายนอกประเทศได้
--อินโฟเควสท์ โดย ธปฦ/ศศิธร/รัชดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 317 อีเมล์: rachada@infoquest.co.th--