สศค.สวนกระแสมองการเมืองนิ่ง ชี้เป็นปีที่มีหลายปัจจัยเอื้อให้ลงทุนเพิ่ม

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 26, 2008 15:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นางพรรณี สถาวโรดม ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ปัจจัยหนุนที่เอื้อต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในปีนี้จะมาจากปัจจัยการเมืองที่นิ่ง ซึ่งจะเอื้ออำนวยต่อการลงทุนให้ขยายตัวมากขึ้น โดยที่ผ่านมาการลงทุนเกือบเต็มกำลังการผลิตแล้ว และถึงเวลาที่จะต้องลงทุนเพิ่ม ขณะที่ประชาชนมีฐานรายได้สูงขึ้นเพียงพอต่อการจับจ่ายใช้สอยได้มากขึ้นจากการเพิ่มขึ้นเงินเดือนในช่วงที่ผ่านมา
เหตุที่มองว่าปัจจัยการเมืองนิ่ง เพราะขณะนี้ประเทศได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และมีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาถึงแผนการบริหารราชการแผ่นดินแล้ว และวันที่ 17 เม.ย.51 จะเห็นภาพรวมของโครงการลงทุนจากทุกหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจที่จะนำมาตั้งเป็นงบประมาณรายจ่ายปี 52
นางพรรณี กล่าวว่า แต่หากเกิดกรณีการยุบพรรคการเมืองขึ้นจริงก็ถือเป็นความโชคร้าย เพราะขณะนี้ประเทศไทยมีรัฐบาลที่เดินมาตามระบอบของประชาธิปไตยแล้ว ส่วนจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากน้อยอย่างไรต้องรอดูต่อไป สศค.ยังไม่ได้ประเมินผลกระทบเรื่องนี้
โดยปีนี้เชื่อว่าจะเป็นช่วงที่ดีต่อการเข้ามาลงทุนได้เพิ่มขึ้น หลังจากรัฐบาลได้ออกมาตรการต่างๆ เพื่อสนับสนุนการลงทุนแล้ว อัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำ เงินบาทยังแข็งค่า และมีการนำเข้าสินค้าเพื่อเข้ามาขยายการลงทุนซึ่งทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการลดลงได้ส่วนหนึ่ง
สำหรับมาตรการภาษีที่รัฐบาลนำออกมาใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะมีผลบังคับใช้ภายในปีนี้ก็เชื่อว่าจะมีส่วนทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP)ของไทยปีนี้เติบโตเพิ่มขึ้นอีก 0.2%
ขณะที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เตรียมออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านการที่รัฐบาลจะแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ ปี 50 โดยเห็นว่าจะเป็นการช่วยเหลือให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และพวก หลุดพ้นจากกระบวนการตรวจสอบความผิด
ด้านนายคณิศ แสงสุพรรณ ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า ปัจจัยในประเทศปีนี้น่าจะแข็งแกร่งมากขึ้น เนื่องจากการที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวทั้งการบริโภคและการลงทุน ซึ่งจะส่งผลให้จีดีพีปีนี้โตได้ประมาณ 5.6% ตามที่คาดการณ์ไว้ โดยการคาดหมายดังกล่าวได้รวมปัจจัยจากชุดมาตรการภาษีเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจจำนวน 4.2 หมื่นล้านบาทไว้แล้ว ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับรากหญ้ายังไม่ได้นำไปประเมินร่วมกับการปรับเป้าจีดีพีในครั้งนี้ เพราะยังไม่เห็นความชัดเจนจากมาตรการดังกล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ