รมว.คมนาคม คิกออฟรถเมล์ EV 40 คันวิ่งแทนสาย 8 เริ่มให้บริการ 20 ส.ค.นี้

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 19, 2022 17:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เป็นประธานเปิดการให้บริการรถโดยสารพลังงานไฟฟ้า (EV) สาย 8 หรือสาย 2-38 ภายใต้แนวคิด "We Come To Change Fast 8 To Feel Good เรามาเพื่อเปลี่ยนความรู้สึกให้ดีขึ้น"ของบริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด

สำหรับการเปิดเดินรถโดยสารปรับอากาศที่ใช้พลังงานสะอาด (EV) สาย 2-38 (สาย 8 เดิม) โดยบริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด นี้ถือเป็นการคิกออฟการให้บริการรถโดยสารสาธารณะ ในกรุงเทพฯและปริมณฑล ซึ่งตามการปฏิรูปเส้นทางรถโดยสาร จะมีสายทางให้บริการจำนวน 237 เส้นทาง แบ่งเป็นผู้ประกอบการเป็นเอกชนที่มายื่นขอลายเส้นกับกรมขนส่งทางบก (ขบ.) และการให้บริการขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก) ซึ่งการเปิดรถเมล์อีวี สาย 8 ของ บริษัท ไทย สมายล์ บัส วันนี้เป็นการเปิดให้บริการรถโดยสารสาธารณะของผู้ประกอบการที่เป็นเอกชน ซึ่งจะเริ่มให้บริการในวันที่ 20 ส.ค.นี้ จำนวน 40 คัน

ส่วนอัตราค่าโดยสาร จะเป็นไปตามโครงสร้างค่าโดยสารรถปรับอากาศใหม่ ที่คณะกรรมการขนส่งทางบกกลางกำหนด ตามระยะทาง 15-20-25 บาท ซึ่งเอกชนได้เสนอการบริการเพิ่มเติม ค่าโดยสาร 40 บาทต่อวัน สำหรับการใช้บริการรถโดยสารของบริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด ทุกเส้นทาง โดยะจเป็นบัตรอิเล็กทรอนิกส์ (E- ticket) สามารถเติมเงินได้ โดยผู้โดยสารสามารถซื้อได้จากพนักงงานที่อยู่บนรถคันดังกล่าว ขณะเดียวกันได้ขอความร่วมมือบริษัทให้จัดเก็บค่าโดยสาร เริ่มต้น ที่ 10 บาท สำหรับผู้โดยสารที่มี บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน) เพื่อบรรเทา ความเดือดร้อนของประชาชาชนที่มีรายได้น้อยจนถึงวันที่ 31 ธ.ค.65

รมว.คมนาคม กล่าวว่า หลังจากนี้จะมีการประเมินผลปัญหาอุปสรรคการให้บริการในระยะเวลา 60 วันว่า มีเรื่องใดที่ต้องปรับปรุงแก้ไข ทั้งนี้เพื่อตอบโจทย์ในการให้บริการขับเคลื่อนเป้าตามแผน โดยนำรถเมล์ EV มาวิ่งให้บริการขั้นต่ำ 5,000 คันในระยะเวลา 3 ปีและขยายเป็น 7,900 คันในอนาคตเพื่อรองรับความต้องการเดินทางเพิ่ม โดยในส่วนของ ขสมก. มีแผนนำรถเมล์ไฟฟ้าให้บริการปีนี้ ประมาณ 400 คัน ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำทีโออาร์ โดยมีผู้แทนจากองค์การต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) เข้ามาร่วมกำหนดทีโออาร์การจัดซื้อจัดจ้างเพื่อเกิดความโปร่งใสด้วย

"ไทย สมายล์ บัส ได้เสนอแผนในการเชื่อมต่อโครงข่ายคมนาคมระบบอื่นๆ เช่น เรือ รถไฟฟ้า หรือ รถไฟทางไกล ซึ่งสิ่งเหล่านี้อยู่ระหว่างดำเนินการอยู่ เชื่อว่าสิ่งที่พยายามทำ แม้ว่าจะใช้เวลามากพอสมควรเกือบ 4 ปี แต่ไม่มีอะไรที่จะทำไม่ได้หากเราตั้งใจจะทำ วันนี้ถือเป็นการพิสูจน์ว่าเราเริ่มนับ 1 ในการให้บริการรถขนส่งสาธารณะในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า และมีแผนที่จะดำเนินไม่เกิน 3 ปี ในการเปลี่ยนรถขนส่งสาธารณะทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นรถเก่าๆหรือรถร้อน มาเป็นรถไฟฟ้า เพื่อเป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ประชาชน เข้าถึงการให้บริการโดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาส ก็สามารถเข้าถึงการให้บริการ ซึ่งจะทำให้นี้สิ่งเหล่านี้เป็นไปตามสมมุติฐานที่กระทรวงคมนาคมตั้งใจไว้"นายศักดิ์สยาม กล่าว

สำหรับผู้ประกอบการสาย 8 ที่เป็นเอกชนรายเดิม ขณะนี้ยังคงมีให้บริการอยู่อีกส่วนหนึ่ง ซึ่งมีทั้งรถร้อน และรถปรับอากาศ เนื่องจาก สัญญาสัมปทานเดินรถจะสิ้นสุดในปี 66

รมว.คมนาคม กล่าวเพิ่มเติมว่า การเปลี่ยนรถขนส่งสาธารณะจากรถใช้พลังงานที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาเป็นรถที่ใช้พลังงานไฟฟ้า (EV) ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เชื่อว่าจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น อีกทั้งช่วยลดปัญหาฝุ่น PM2.5 ซึ่งตามการปฏิรูปเส้นทางรถโดยสาร จะมีสายทางให้บริการจำนวน 237 เส้นทาง แบ่งเป็น ผู้ประกอบการเป็นเอกชนที่มายื่นขออนุญาตกับกรมขนส่งทางบก (ขบ.) และการให้บริการขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) โดยเป้าหมายการเปิดให้บริการรถเมล์ EV จะมีการบรรจุและให้บริการจำนวน 1,250 คัน ภายในเดือนธ.ค.

ด้านน.ส.กุลพรภัสร์ วงศ์มาจารภิญญา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด เปิดเผยว่า ในเฟสแรกบริษัทฯ มีรถเมล์พลังงานไฟฟ้าจำนวน 153 คัน ซึ่งจะทยอยนำมาวิ่งให้บริการล็อตแรก 40 คัน เริ่มวันที่ 20 ส.ค.นี้ และจะนำออกมาวิ่งครบทั้งหมดภายในเดือน ส.ค.นี้ พร้อมติดตั้งตู้ชาร์ตแบบฟาสต์ชาร์จ กำลังไฟ 310 กิโลวัตต์ชั่วโมง ชาร์จหนึ่งครั้ง ใช้เวลา 1 ชั่วโมง 40 นาที หรือวิ่งได้ 4 รอบ 280 กิโลเมตร(กม.)ต่อวัน ซึ่งมีกระจายตามอู่ทั้ง 8 อู่ มีอู่ละ 20 หัวชาร์จ จะครอบคลุมใน 71 เส้นทางที่บริษัทฯได้รับสัมปทาน มีแผนเปิดให้บริการ ภายในปี 2565

ทั้งนี้รถทุกคันได้ติดตั้งเครื่องเก็บค่าโดยสารแบบ E-Ticket ซึ่งจะเริ่มใช้ 100% ได้เดือนหน้า (ก.ย.) ควบคู่กับการใช้เงินสด โดยเป็นการเติมเงินไม่จำกัดขั้นต่ำ ผ่านระบบที่บริษัทพัฒนาขึ้นมาเอง เพื่อเตรียมพร้อมเชื่อมต่อการเดินทาง แบบระบบเครือข่าย "รถ-เรือ-ราง" ครบวงจร ควบคู่ไปกับการฝึกอบรมพนักงานขับรถ ซึ่งเรียกว่ากัปตันเมล์ และพนักงานต้อนรับบนรถโดยสาร ที่เรียกว่าบัสโฮสเตสให้มีความรู้ ความชำนาญในเส้นทาง คำนึงถึงความปลอดภัย โดยเก็บค่าโดยสารตามเดิม คือ 15 , 20 และ 25 บาท นอกจากนี้ได้รับพนักงานจากสาย 8 เดิม มาทำงานด้วยประมาณ 15% ซึ่งผ่านการอบรม เพราะบางส่วนยังทำงานกับรถเมล์ร้อนที่ยังให้บริการอยู่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ