น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พอใจผลงานกระทรวงพาณิชย์ ที่ผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี ตามกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership Agreement: RCEP) ซึ่งมีสมาชิก 15 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน 10 ประเทศ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ มีประชากรรวมกัน 2,300 ล้านคน (30.2% ของประชากรโลก) GDP รวมมูลค่า 28.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (33.6% ของ GDP โลก)
ทั้งนี้ นับจากวันที่ RCEP มีผลบังคับใช้เมื่อ 1 ม.ค. ที่ผ่านมา การค้าระหว่างไทยกับประเทศสมาชิก ในช่วงครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย. 65) มีมูลค่ารวม 169,041 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 13% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยไทยส่งออกไปยังประเทศสมาชิก RCEP มูลค่า 78,172 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 9% ตลาดส่งออกสำคัญที่ขยายตัวได้ดี อาทิ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้
กระทรวงพาณิชย์ รายงานตัวเลขที่ชี้ให้เห็นว่า ทุกกลุ่มประเภทสินค้าได้รับประโยชน์จากข้อตกลงนี้ มีการการส่งออกไปตลาด RCEP เพิ่มมากขึ้น กลุ่มสินค้าเกษตรแปรรูป อาทิ น้ำตาลทราย (+145%) ผลไม้กระป๋องและแปรรูป (+19%) ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูป (+10%) และอาหารสัตว์เลี้ยง (+9%) กลุ่มสินค้าเกษตร อาทิ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง (+14%) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (+24%) ข้าว (+12%) และกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม อาทิ แผงวงจรไฟฟ้า (+19%) เม็ดพลาสติก (+12%) และผลิตภัณฑ์ยาง (+3%)
น.ส.รัชดา กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรีต้องการให้ผู้ประกอบการไทยใช้ประโยชน์จาก RCEP อย่างเต็มที่ ซึ่งครอบคลุมทั้งเรื่องการลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต รวมถึงเป็นโอกาสอย่างมากในการขยายการส่งออกสินค้าในกลุ่มประเทศสมาชิก ทั้งนี้ RCEP มีจุดเด่นในเรื่องกฎถิ่นกำเนิดสินค้า ที่เอื้อต่อผู้ประกอบการให้ได้รับการงดเว้นภาษีง่ายขึ้น การค้าราบรื่น เนื่องจากใช้แบบฟอร์มหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าในรูปแบบเดียวกัน รวมถึงมีระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง
ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรเร่งศึกษาทำความเข้าใจกฎเกณฑ์ทางการค้า อัตราภาษีศุลกากร กฎถิ่นกำเนิดสินค้า และวางแผนธุรกิจพร้อมพัฒนาสินค้า ให้สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคในตลาด RCEP ขณะที่กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้วางระบบขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form RCEP เพื่อช่วยผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จากการลดภาษีผลักดันการส่งออกให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง