ม.หอการค้าไทย เผยผลกระทบจากโควิด-19 ทำหนี้ครัวเรือนไทยพุ่ง พีคสุดที่ระดับ 90.9% ต่อจีดีพีในไตรมาส 1/64 มองระดับ 80-90% ยังไม่น่ากังวล เพราะไม่ใช่การก่อหนี้ฟุ่มเฟือย แนะรัฐกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุน เพื่อช่วยสร้างรายได้ ดึงหนี้ครัวเรือนลดลงในระยะยาว
นายวิเชียร แก้วสมบัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงสถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทยในปี 2565 ว่า ข้อมูลล่าสุด ณ ไตรมาส 1/65 พบว่าสถาบันรับฝากเงินและสถาบันการเงินอื่น มียอดเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน (หนี้ครัวเรือน) รวมทั้งสิ้น 14.64 ล้านล้านบาท ซึ่งเมื่อเทียบสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีแล้ว จะพบว่า ไตรมาส 1/65 หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ระดับ 89.2% ต่อจีดีพี ลดลงเล็กน้อยจากไตรมาส 4/64 ซึ่งหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ระดับ 90.0% ต่อจีดีพี
อย่างไรก็ดี หนี้ครัวเรือนไทย เคยขึ้นไปสูงสุดที่ระดับ 90.9% ต่อจีดีพี ในช่วงไตรมาส 1/64 จากผลกระทบทางเศรษฐกิจในช่วงที่มีการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยหนี้ครัวเรือนของไทยเริ่มเพิ่มสูงขึ้นแตะระดับ 80% ต่อจีดีพี นับตั้งแต่ไตรมาส 1/63 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นของการระบาดโควิด-19 และมีการล็อกดาวน์ รวมถึงการปิดกิจการและกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ อันส่งผลทำให้จีดีพีของประเทศหดตัว และเติบโตอยู่ในระดับต่ำ
นายวิเชียร มองว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี ที่อยู่ในระดับ 80-90% ไม่ถือว่าเป็นระดับที่น่ากังวล เนื่องจากหนี้ครัวเรือนไทยส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในสถาบันรับฝากเงินที่มีระบบบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดี หรือเป็นหนี้อยู่ในระบบเป็นส่วนใหญ่ โดยหนี้ที่อยู่นอกระบบเป็นเพียงส่วนน้อย และเชื่อว่าหนี้ครัวเรือนน่าจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้วเมื่อไตรมาส 1/64 ซึ่งตอนนั้นอยู่ที่ระดับ 90.9% ต่อจีดีพี และหลังจากนี้หนี้ครัวเรือนจะค่อยๆ ปรับตัวลดลงเมื่อเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวกลับมา
ทั้งนี้ ศูนย์พยากรณ์ฯ คาดว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนจะสามารถปรับลดลงจากระดับ 89-90% ในปัจจุบัน ลงมาอยู่ที่ระดับ 80% ได้ภายใน 5 ปี หากเศรษฐกิจไทยในระยะ 5 ปีข้างหน้าสามารถขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 6.2% ต่อปี
ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ คาดว่า หนี้ครัวเรือนไทย ณ สิ้นปี 65 จะมีสัดส่วนอยู่ที่ 89.3% ต่อจีดีพี คิดเป็นมูลค่าหนี้ครัวเรือน 14.97 ล้านล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 16 ปี นับตั้งแต่ที่ ม.หอการค้าไทย ได้เคยทำการสำรวจมาตั้งแต่ปี 50 แต่อย่างไรก็ดี สัดส่วนหนี้ครัวเรือนในระดับ 80-90% ต่อจีดีพี ในทางเศรษฐศาสตร์ยังไม่น่ากังวล เพราะเป็นหนี้ที่อยู่ในระบบคิดเป็นสัดส่วนถึง 79% ส่วนหนี้นอกระบบอยู่ที่ 21% ซึ่งชี้ว่า สินเชื่อในระบบยังสามารถทำงานได้ดี โดยส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อที่มีทรัพย์สินค้ำประกัน เช่น บ้าน รถยนต์ ซึ่งการกู้เงินในระบบจะมีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าการกู้เงินนอกระบบมาก อย่างไรก็ดี มูลค่าหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง อาจจะเป็นข้อจำกัดที่ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ไม่โดดเด่นนัก
"ตัวเลขนี้ ชี้ว่าสินเชื่อในระบบยังทำงานได้ดี ถ้ามีทรัพย์สินหนุนหลัง เช่น มีบ้าน หรือรถมาค้ำประกัน ก็ทำให้คนยังเข้าถึงสินเชื่อได้ การที่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี แม้จะอยู่ในระดับสูง แต่ส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่อยู่ในระบบ ซึ่งยังไม่ได้เป็นการกู้จนน่ากังวล ไม่ใช่การก่อหนี้จากการฟุ่มเฟือย แต่เป็นหนี้ที่เพิ่มขึ้นจากภาวะค่าครองชีพสูง และอีกส่วนหนึ่งคือรายได้เพิ่มไม่ทันกับรายจ่าย" นายธนวรรธน์ กล่าว
นายธนวรรธน์ กล่าวด้วยว่า การที่จะให้หนี้ครัวเรือนลงมาอยู่ในระดับ 80% ต่อจีดีพีเท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิดนั้น จะต้องทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตสูง ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลจะต้องทำนับจากนี้ คือสนับสนุนการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน กระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคและต่างจังหวัด เพื่อให้ในชุมชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้น พร้อมคาดว่าสถานการณ์หนี้ครัวเรือนในปี 66 จะดีขึ้น จากเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว ซึ่งจะทำให้ปัญหาหนี้ครัวเรือนเริ่มคลี่คลายลงได้บ้าง
"การที่หนี้ครัวเรือนไทยจะกลับมาอยู่ในระดับ 80% ต่อจีดีพี อาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องทำให้เศรษฐกิจไทยในแต่ละปีเติบโตสูงอยู่ในระดับ 6% ดังนั้น การกระตุ้นเศรษฐกิจไทยผ่านการบริโภค เป็นสิ่งที่รัฐบาลไม่ควรจะพึงกระทำในระยะยาว แต่ควรจะกระตุ้นผ่านการลงทุนมากกว่า เพราะการลงทุนของภาครัฐ ผ่านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่น การลงทุนใน EEC จะช่วยกระตุ้นให้คนมีรายได้เพิ่ม จะเพิ่มการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น" ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจฯ ระบุ
ด้านนางอุมากมล สุนทรสุรัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจสถานภาพหนี้ครัวเรือนไทย ปี 2565 ซึ่งเป็นการสำรวจจากกลุ่มตัวอย่าง 1,350 คน อายุตั้งแต่ 20-60 ปีขึ้นไป ดำเนินการสำรวจในช่วง 15-20 ส.ค.65 โดยเมื่อถามถึงการเก็บออมในปัจจุบัน พบว่า กลุ่มตัวอย่างมากถึง 51% ตอบว่าไม่เคยเก็บออม โดยมีกลุ่มตัวอย่างเพียง 6.6% ที่ตอบว่าเก็บออมเพิ่มขึ้น
เมื่อถามถึงพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยในปี 65 เมื่อเทียบกับปี 64 จะพบว่า กลุ่มตัวอย่าง 61.7% ตอบว่า มูลค่าที่ใช้จ่ายในปี 65 เพิ่มขึ้นจากปี 64 ซึ่งสาเหตุที่มีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น มาจากสาเหตุอันดับแรก คือ ค่าครองชีพสูงขึ้น รองลงมา คือ รายได้/เงินเดือน เพิ่มขึ้น และราคาพืชผลทางการเกษตรดีขึ้น ส่งผลให้รายได้เพิ่มขึ้น ส่วนกลุ่มตัวอย่างอีก 27.5% ตอบว่า มูลค่าการใช้จ่ายลดลง มาจากสาเหตุอันดับแรก คือ หนี้สินเพิ่มขึ้น รองลงมา คือ รายได้/เงินเดือนลดลง และค่าครองชีพสูงขึ้น
หากเปรียบเทียบรายได้ และค่าใช้จ่ายของครัวเรือนในปัจจุบัน พบว่า กลุ่มตัวอย่าง 56.4% ตอบว่ารายได้ครัวเรือนน้อยกว่ารายจ่าย ขณะที่กลุ่มตัวอย่าง 23.5% ตอบว่า รายได้ครัวเรือนมากกว่ารายจ่าย และกลุ่มตัวอย่างอีก 20.1% ตอบว่ารายได้ครัวเรือนเท่ากับรายจ่าย ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ถึง 92.1% ยังเห็นว่าค่าครองชีพในปัจจุบันอยู่ในระดับที่สูงเกินไปเมื่อเทียบกับรายได้ในปัจจุบัน
เมื่อสำรวจถึงภาวะหนี้สินครัวเรือน พบว่า กลุ่มตัวอย่างถึง 99.6% ตอบว่ามีหนี้สิน โดยมีกลุ่มตัวอย่างเพียง 0.4% เท่านั้น ที่ตอบว่าไม่มีหนี้สิน และเมื่อถามถึงประเภทหนี้สิน พบว่า ส่วนใหญ่เป็นหนี้ส่วนบุคคล (หนี้อุปโภคบริโภค) รองลงมา เป็นหนี้บัตรเครดิต และหนี้ยานพาหนะ/หนี้บ้าน
สำหรับภาระหนี้สิน พบว่า มีจำนวนหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนอยู่ที่ราว 5 แสนบาท แยกเป็นหนี้ในระบบ 78.9% และหนี้นอกระบบ 21.1% โดยมีภาระที่ต้องผ่อนชำระต่อเดือน เฉลี่ยที่ 12,800 บาท ทั้งนี้สำหรับสาเหตุของการเป็นหนี้ที่เพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่ตอบว่า เป็นเพราะค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น รองลงมา คือ รายได้ไม่พอกับรายจ่าย และการผ่อนสินค้ามากเกินไป โดยกลุ่มตัวอย่างถึง 65.9% ตอบว่าเคยผิดนัดชำระหนี้ ขณะที่ 34.1% ตอบว่าไม่เคยผิดนัดชำระหนี้
เมื่อถามถึงปัจจัยที่ก่อให้เกิดโอกาสในการผิดนัดชำระหนี้ พบว่าสาเหตุ 5 อันดับแรก มาจาก 1.รายได้/รายรับที่ลดลง 2.เศรษฐกิจไม่ดี 3.ค่าครองชีพไม่สอดคล้องกับรายได้ 4.ปัญหาสภาพคล่องของธุรกิจ/ครัวเรือน และ 5.การแพร่ระบาดของโควิด-19
ทั้งนี้ ได้มีข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน โดยอันดับแรก คือ การหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ รองลงมา คือ การให้ความรู้ในการบริหารหนี้ และการฝึกอบรมวิชาชีพ/เพิ่มทักษะในการประกอบอาชีพ รวมทั้งการให้ความรู้เรื่องการวางแผนการใช้จ่าย