นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมได้ลงพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ระหว่างวันที่ 26 - 28 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยได้จับมือกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดแม่ฮ่องสอน และสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดแม่ฮ่องสอน พบหารือกับเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการ ผู้ผลิตสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปที่มีคุณภาพและพร้อมส่งออกไปตลาดต่างประเทศ ทั้งวิสาหกิจชุมชนภูมิไทยถั่วลายเสือ วิสาหกิจชุมชนกะเหรี่ยงดูลาเปอร์ และผู้ประกอบการชาวอลเลย์ เฮ้าส์ ในหมู่บ้านรักไทย
นางอรมน กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ กรมได้พบหารือกับวิสาหกิจชุมชนภูมิไทยถั่วลายเสือ ผู้ผลิตถั่วลายเสือ ป๊อบคอร์นดอย และถั่วเสือซ่อนลาย มีพื้นที่เพาะปลูกใน 4 อำเภอ คือ เมืองแม่ฮ่องสอน ปางมะผ้า ปาย และขุนยวม โดยวิสาหกิจชุมชนเน้นกระบวนการผลิตแบบคั่วด้วยเกลือดำและใช้วัตถุดิบถั่วที่สดใหม่ และปรุงแต่งรสชาติน้อย จึงทำให้ถั่วลายเสือมีคุณภาพเฉพาะที่มีเมล็ดใหญ่ เนื้อแน่น มีรสชาติหวาน มัน กรอบ และมีคุณประโยชน์เป็นแหล่งโปรตีนสูง จึงเป็นที่ต้องการของตลาด ซึ่งถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่จะสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร สำหรับถั่วลายเสือเป็นสินค้าที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) อีกทั้งยังได้เข้าร่วมจำหน่ายสินค้าและจับคู่ธุรกิจในงาน FTA Fair ที่กรมจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ทุกปี และยังเตรียมพร้อมส่งออกไปตลาดมาเลเซียอีกด้วย
นอกจากนี้ ยังได้ลงพื้นที่ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลกับวิสาหกิจชุมชนกะเหรี่ยงดูลาเปอร์ อำเภอแม่ลาน้อย ผู้ผลิตกาแฟอาราบิกาห้วยห้อมเกรดพรีเมียม ภายใต้ชื่อ "กาแฟดูลาเปอร์" โดยเป็นการรวมกลุ่มสมาชิกในหมู่บ้านดูลาเปอร์ เพื่อพัฒนาเป็นหมู่บ้านต้นแบบให้กับชุมชนอื่นๆ ในด้านการคงวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม การส่งเสริมให้ชาวบ้านมีรายได้ และการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยปลูกกาแฟแบบปลอดสารเคมี ที่กำลังจำหน่ายตลาดในประเทศและต้องการขยายส่งออกตลาดไปต่างประเทศ ทั้งนี้ ยังได้หารือกับผู้ประกอบการวอลเลย์ เฮ้าส์ หมู่บ้านรักไทย อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน ผู้มีประสบการณ์ปลูกและผลิตชาอู่หลงมากกว่า 30 ปี เช่น ชายอดน้ำค้าง ชาหอมหมื่นลี้ ชาก้านอ่อน เป็นต้น โดยมีกระบวนการผลิตแบบธรรมชาติไม่ใช้สารเคมี และยังได้คิดค้นพัฒนา ชาเปลือกส้ม ที่ได้นำชาอู่หลงมาผสมกับเปลือกส้มสายน้ำผึ้งอบแห้ง ซึ่งถือเป็นชาสูตรพิเศษและเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ของบ้านรักไทย
นางอรมน เสริมว่า กรมได้ให้คำแนะนำเรื่องการใช้ประโยชน์จาก FTA กฎระเบียบทางการค้า อัตราภาษีศุลกากร กลยุทธ์การทำตลาดเจาะกลุ่มผู้บริโภค และการขยายช่องทางจำหน่ายแบบออนไลน์และออฟไลน์ รวมทั้งแนวทางการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรของแม่ฮ่องสอน ทั้งการสร้างเรื่องราว กระบวนการผลิตสินค้าที่มีมาตรฐานรับรอง การใช้นวัตกรรมสร้างความแตกต่างของสินค้า เพื่อให้จำหน่ายสินค้าในราคาสูงขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการนำข้อมูลไปต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดมากขึ้น
"การลงพื้นที่ครั้งนี้ กรมได้ดำเนินการภายใต้โครงการ "การเพิ่มศักยภาพเกษตรกรในยุคการค้าเสรี" โดยจัดในรูปแบบการจัดสัมมนาและการลงพื้นที่ในภูมิภาคต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งส่งเสริมศักยภาพและพัฒนาผู้ประกอบการ เกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และนโยบาย "เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด" ของกระทรวงพาณิชย์ ที่ให้ความสำคัญกับการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพตั้งแต่ต้นน้ำ และสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค ในเรื่องอาหารปลอดภัย การตรวจสอบย้อนกลับ การรักษาสิ่งแวดล้อม การนำกลับมาใช้ใหม่ สินค้า BCG และเน้นความสะดวก ซึ่งจะทำให้สินค้าที่ผลิตออกมามีตลาดรองรับ" นางอรมนกล่าว
ปัจจุบัน ไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าเมล็ดกาแฟ อันดับที่ 42 ของโลก และเป็นอันดับที่ 5 ของอาเซียน รองจากเวียดนาม อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และมาเลเซีย โดยในช่วงครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย. 2565) ไทยส่งออกสินค้าเมล็ดกาแฟไปตลาดโลก มูลค่า 1.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ อาเซียน ญี่ปุ่น เยอรมนี แคนาดา และเกาหลีใต้ และไทยเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์กาแฟอันดับที่ 15 ของโลก และเป็นอันดับที่ 4 ของอาเซียน รองจากเวียดนาม อินโดนีเซีย และมาเลเซีย โดยในช่วงครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย. 2565) ไทยส่งออกผลิตภัณฑ์กาแฟไปตลาดโลก มูลค่า 54 ล้านเหรียญสหรัฐ ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ อาเซียน ออสเตรเลีย ฮ่องกง จีน และเนเธอร์แลนด์ ทั้งนี้ สำหรับสินค้าเมล็ดกาแฟ 14 ประเทศ คู่ FTA ของไทย ได้ยกเว้นภาษีศุลกากรจากไทยทุกรายการแล้ว ยกเว้น ญี่ปุ่น จีน อินเดีย และเปรู ส่วนสินค้าผลิตภัณฑ์กาแฟ ประเทศคู่ FTA ยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรจากไทยทุกรายการ ยกเว้นอินเดีย