นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริษัท บีบีจีไอ ไบโอเอทานอล จำกัด และอดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวถึง ประเทศไทยควรเร่งเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชาเพื่อความมั่งคงทางด้านพลังงาน พร้อมเตรียมรับมือราคาพลังงานพุ่งสูงระลอกใหม่ และลดการพึ่งพิงแหล่งก๊าซธรรมชาติจากเมียนมา แหล่งปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ทับซ้อนไทยกับกัมพูชาต้องร่วมพัฒนาให้เกิดประโยชน์เช่นเดียวกับที่ไทยร่วมกับมาเลเซียพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนในรูปแบบ JDA (Joint Development Area) โดยกรณีของ Malaysia-Thailand Joint Development Area นั้นได้มีการจัดตั้งเป็นองค์กรนิติบุคคล Malaysia-Thailand Joint Authority บริหารทรัพยากรปิโตรเลียมร่วมกันและแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเท่าเทียม 50:50 และองค์กรร่วมนี้มีอำนาจในการทำสัญญาให้สิทธิสำรวจและพัฒนาปิโตรเลียมแก่บริษัทผู้ประกอบการได้ภายใต้เงื่อนไขของระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Contract) กรณีของไทย-กัมพูชาก็สามารถใช้แนวทางเดียวกันในการบริหารจัดการทรัพยากรพลังงานร่วมกันได้เพื่อความมั่งคงทางด้านพลังงานของทั้งสองประเทศ
ขณะเดียวกันการได้แหล่งพลังงานใหม่จากพื้นที่ทับซ้อนไทยกัมพูชานี้จะช่วยทำให้ไทยลดการพึ่งพาพลังงานนำเข้าจากเมียนมาได้ โดยคาดการณ์ว่า เหตุการณ์สงครามกลางเมืองและความไม่สงบในเมียนมาจะยืดเยื้อยาวนาน
นอกจากนี้ รัฐบาลเผด็จการทหารพม่าอาจเผชิญแรงกดดันและการคว่ำบาตรเพิ่มเติมจากชาติตะวันตกในอนาคตจนกว่าเมียนมาจะกลับสู่ประชาธิปไตยการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและแรงกดดันที่เข้มข้นขึ้นอาจกระทบต่อโครงการลงทุนต่างๆทางด้านพลังงานของไทยในเมียนมา ส่งผลต่อความมั่นคงทางด้านพลังงานได้จากการที่ไทยอาศัยการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากเมียนมาค่อนข้างมาก
นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า ก๊าซธรรมชาติที่ผลิตจากโครงการยาดานา ในอ่าวเมาะตะมะของเมียนมานั้น มีปริมาณ 770-780 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งประมาณ 220-230 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ใช้ในเมียนมาเพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้า หรือคิดเป็นประมาณ 50% ของความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในเมียนมา อีก 550-560 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันส่งออกมาที่ไทย สำหรับเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่และขนาดเล็ก จำนวน 12 โรงในไทย รองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าและพลังงานของประชาชนกว่า 11-12 ล้านคนในภาคตะวันตกและบางส่วนของภาคกลาง โดยปริมาณดังกล่าวคิดเป็นประมาณ 11-11.5% ของความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติของไทย
เศรษฐกิจภาคตะวันตกและบางจังหวัดภาคกลางต้องอาศัยพลังงานจากเมียนมามากเกินไป ไทยจำเป็นต้องมียุทธศาสตร์กระจายความเสี่ยง เร่งส่งเสริมพลังงานชีวภาพ พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น เพิ่มสัดส่วนพลังงานทางเลือกขึ้นมาให้ได้ หลังการรัฐประหารในพม่า บริษัทพลังงานสัญชาติตะวันตกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อเมียนมาและถอนตัวจากการลงทุน หลังบริษัทพลังงานฝรั่งเศสโททาลเอนเนอร์ยี่ส์ ได้ประณามการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นหลายครั้งหลังการรัฐประหารในเมียนมาและประกาศยุติการดำเนินโครงการต่าง ๆ ในเมียนมา และ ถอนการลงทุนจากแหล่งยาดานา ไทยโดย ปตท สผ ได้เพิ่มสัดส่วนการลงทุนเพิ่มเติม ส่งผลให้ ผู้ถือหุ้นเดิมเปลี่ยนสัดส่วนการครอบครองล่าสุด บริษัท ปตท.สผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ถือสัดส่วนการลงทุน จาก 25.5% เป็น 37.0842% รัฐวิสาหกิจของรัฐบาลเมียนมา Myanmar Oil and Gas Enterprise (MOGE) จาก 15% เป็น 21.8142% การลดการพึ่งพาพลังงานจากเมียนมาต้องเป็นยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางด้านพลังงานของไทย
ความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้นในเมียนมาจะเพิ่มขึ้นอีก ประเทศไทยมี "ความเสี่ยง" ต่อการรับ-ส่งก๊าซจากแหล่งผลิตสำคัญ 3 แหล่งคือ "ยาดานา-เยตากุน-ซอติก้า" ที่ใช้อยู่ประมาณ 1,000 ล้าน ลบ.ฟุต/วันอาจจะส่งผลกระทบต่อการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าในภาคตะวันตกของประเทศไทยได้