นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังนำคณะผู้แทนการค้าไทย ภาครัฐ และเอกชน เข้าพบปะหารือกับ 5 รัฐมนตรีของซาอุดีอาระเบีย ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงท่องเที่ยว กระทรวงการลงทุน และกระทรวงอุตสาหกรรมเหมืองแร่ รวมถึงประธานสภาหอการค้าซาอุดิอาระเบีย และประธานองค์การอาหารและยาซาอุดิอาระเบีย ที่ประเทศซาอุดีอาระเบียว่า การหารือประสบผลสำเร็จอย่างดียิ่ง มีผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรม โดยทางซาอุฯ ได้ตอบรับข้อเสนอจากฝ่ายไทยทุกข้อ ดังนี้
เรื่องที่ 1 ได้เสนอให้ซาอุฯ ในฐานะที่เป็นประเทศที่มีความสำคัญในกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ (GCC) ร่วมทำข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับไทย ซึ่งรัฐมนตรีซาอุฯ ตอบรับข้อเสนอนี้ โดยจะเริ่มเดินหน้าจัดทำ FTA ระหว่างไทยกับ GCC ที่มี 6 ประเทศ ประกอบด้วย (ซาอุดิอาระเบีย บาห์เรน โอมาน ยูเออี กาตาร์ และคูเวต) โดยซาอุฯ จะช่วยประสานงานและผลักดันร่วมกับประเทศไทย เพื่อให้เกิด FTA ไทย-GCC ต่อไปในอนาคต ซึ่งถือเป็นก้าวแรกที่เป็นรูปธรรม
เรื่องที่ 2 ได้เสนอให้จัดตั้งคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee) หรือ JTC ระหว่างไทย-ซาอุฯ ซึ่งฝ่ายซาอุฯ ได้ตอบรับข้อเสนอนี้ และมอบหมายให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศของไทย และหน่วยงานของซาอุฯ เริ่มเจรจาได้ในทันที เพื่อทำบันทึกข้อตกลงร่วมกัน (Memorandum of Coorperation) หรือ MOC โดยเร็ว ซึ่งคาดว่าจะสามารถจัดตั้ง JTC ไทย-ซาอุฯ ได้ภายในสิ้นปีนี้
เรื่องที่ 3 ทั้งไทยและซาอุฯ จะให้การสนับสนุนและส่งเสริมการจัดตั้งสภาธุรกิจไทย-ซาอุดีอาระเบีย โดยเป็นการจัดตั้งสภาในรูปแบบที่มีองค์กรเอกชนของทั้ง 2 ประเทศร่วมกันทำงาน ซึ่งได้มีการลงนามใน MOU ไปเมื่อวันที่ 29 ส.ค. 65
เรื่องที่ 4 เรื่อง Saudi Vision 2030 โดยได้แจ้งให้ รมว.พาณิชย์ซาอุฯ รับทราบว่าประเทศไทยพร้อมให้การสนับสนุนทั้งในด้านการค้าและการลงทุน โดยเฉพาะทางด้านอาหาร และในเรื่องของการก่อสร้าง ทั้งในรูปการให้บริการการก่อสร้าง วัสดุก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น
เรื่องที่ 5 รมว.พาณิชย์ซาอุฯ ตอบรับคำขอของตน ที่ขอให้องค์การอาหารและยาซาอุฯ (SFDA) หรือ อย.ของซาอุฯ เร่งส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจโรงงานผลิตไก่ในประเทศไทย เพื่อให้การรับรองส่งออกไปยังซาอุฯ ได้ ซึ่งรับรองไปแล้ว 11 โรงงาน และยังเหลืออีกอย่างน้อย 28 โรงงานที่มีศักยภาพส่งออกไก่มาซาอุฯ ได้ ซึ่ง รมว.พาณิชย์ซาอุฯ ได้สั่งการให้ SFDA เร่งประสานงานจัดส่งเจ้าหน้าที่ไปดำเนินการโดยเร็ว
เรื่องที่ 6 จากปัญหาของภาคเอกชนที่ยังติดขัดเรื่องการขอวีซ่า เพื่อเดินทางมาทำการค้าและการลงทุนในซาอุฯ เนื่องจากการขอวีซ่าจำเป็นต้องได้รับหนังสือเชิญจากบริษัทคู่ค้าของซาอุฯ ก่อน จึงจะสามารถให้วีซ่าได้นั้น ทางฝ่ายไทยได้ขอให้ซาอุฯ ช่วยพิจารณาปัญหาและอุปสรรคดังกล่าว ซึ่งล่าสุดทางซาอุฯ ได้ตกลงให้นักธุรกิจไทยใช้เพียงหนังสือรับรองจากสภาเอกชนของไทยเท่านั้น ซึ่งจะทำให้การขอวีซ่าของภาคเอกชนที่เดินทางไปทำการค้าการลงทุนกับซาอุฯ มีความสะดวกมากขึ้นในอนาคต