นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 20 ในเดือน ส.ค.65 ที่สำรวจความคิดเห็นของผู้บริหาร ส.อ.ท. (CEO Survey) จำนวน 215 คน ครอบคลุมผู้บริหาร 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด ภายใต้หัวข้อ "วิกฤตค่าไฟฟ้าแพง กระทบอุตสาหกรรมแค่ไหน" พบว่า ผู้บริหาร ส.อ.ท. ส่วนใหญ่มีความกังวลว่าการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าในอัตราที่สูงเกินไปในครั้งเดียว จะส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนและต้นทุนการผลิตของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งในส่วนของต้นทุนที่เพิ่มขึ้น จะถูกส่งต่อไปที่ราคาสินค้าและวัตถุดิบตามต้นทุนค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขัน เมื่อเทียบกับประเทศเวียดนามที่ดำเนินนโยบายในการคงอัตราค่าไฟฟ้าที่ 2.8 บาท/หน่วยตลอดปี 2565
โดยผลสำรวจยังพบว่า ภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ จะมีต้นทุนจากค่าไฟฟ้าคิดเป็น 10-30% จากต้นทุนการผลิตทั้งหมด ดังนั้นการขึ้นค่าไฟฟ้าในงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.65 ในอัตราที่สูงทันที จะทำให้ผู้ประกอบการต้องมีความจำเป็นจะต้องปรับราคาสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นอีกไม่เกิน 10% ภายในปลายปีนี้
ในส่วนของมาตรการบรรเทาผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าไฟฟ้านั้น ผู้บริหาร ส.อ.ท.ส่วนใหญ่ มองว่า ภาครัฐควรพิจารณาทยอยปรับขึ้นค่า Ft โดยให้ค่าไฟฟ้ารวมเพิ่มขึ้นไม่เกิน 5% ต่องวด (งวดละ 4 เดือน) ควบคู่ไปกับการออกมาตรการช่วยเหลือกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและผู้ประกอบการ SMEs เช่น การลดค่าไฟฟ้า เป็นต้น เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบจากค่าไฟฟ้าที่คาดว่าจะอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องไปจนถึงปี 2566 จากแนวโน้มราคาเชื้อเพลิงที่นำมาผลิตไฟฟ้าที่อยู่ในระดับสูง ภาระที่ กฟผ.ได้แบกรับต้นทุนค่าเชื้อเพลิง ตั้งแต่เดือน ก.ย.64-เม.ย.65 กว่า 83,010 ล้านบาท ซึ่งจะต้องทยอยส่งต่อต้นทุนดังกล่าวมายังผู้ใช้ไฟฟ้า รวมทั้งแนวโน้มค่าเงินบาทที่ยังคงอ่อนค่าต่อเนื่อง
สำหรับการแก้ไขปัญหาค่าไฟฟ้าแพงในระยะยาว ผู้บริหาร ส.อ.ท.ส่วนใหญ่เสนอให้ภาครัฐควรทบทวนโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่ให้เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย รส่งเสริมและปรับลดขั้นตอนให้เอกชนสามารถลงทุนโรงไฟฟ้าเพื่อให้เกิดการแข่งขันเสรี รวมถึงปรับลดขั้นตอนในการขออนุมัติอนุญาตใช้อุปกรณ์พลังงานหมุนเวียนในภาคธุรกิจและเอกชนให้สะดวกรวดเร็วและต้นทุนต่ำ ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาพลังงานได้ในระยะยาว และยังช่วยแบ่งเบาภาระจากภาครัฐในการบริหารจัดการด้านพลังงาน
ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมเอง ผู้บริหาร ส.อ.ท. แนะนำว่า ควรเตรียมความพร้อมรับมือกับภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าที่จะปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องในช่วงนี้ เช่น ลงทุนในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนใช้ภายในโรงงาน เช่น ติดตั้ง Solar Rooftop, มีปรับแผนการผลิตเพื่อลดต้นทุนพลังงาน รวมทั้งนำระบบการบริหารจัดการพลังงาน (EMS) มาใช้ และปรับปรุงเครื่องจักรและอุปกรณ์เพื่อการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ
โดยผลสำรวจ ประกอบด้วย 6 คำถาม ดังนี้
1. ต้นทุนค่าไฟฟ้าของอุตสาหกรรมคิดเป็นกี่เปอร์เซ็นของต้นทุนการผลิตทั้งหมด
โดยผู้ประกอบการ 54.9% มีต้นทุนการผลิตจากค่าไฟฟ้าในสัดส่วน 10-30% รองลงมา 27.4% มีต้นทุนการผลิตจากค่าไฟฟ้าในสัดส่วนน้อยกว่า 10% ตามด้วย 13.0% มีต้นทุนการผลิตจากค่าไฟฟ้าในสัดส่วน 30-50% และ 4.7% มีต้นทุนการผลิตจากค่าไฟฟ้าในสัดส่วนมากกว่า 50%
2. การปรับอัตราค่าไฟฟ้าฝันแปรอัตโนมัติ (Ft) จะส่งผลกระทบต่อราคาขายสินค้าและบริการอย่างไร
การปรับอัตราค่าไฟฟ้าฝันแปรอัตโนมัติ (Ft) ครั้งนี้ส่งผลให้ผู้ประกอบการ 44.2% ต้องปรับราคาสินค้าและบริการขึ้นไม่เกิน 10% ผู้ประกอบการอีก 27.4% ระบุยังสามารถคงราคาสินค้าและบริการไว้ตามเดิม ผู้ประกอบการ 22.3% ต้องปรับราคาสินค้าและบริการขึ้นไม่เกิน 20% และผู้ประกอบการ 6.1% ต้องปรับราคาสินค้าและบริการขึ้นไม่เกิน 30%
3. ภาคอุตสาหกรรมมีความกังวลต่อการปรับอัตราค่าไฟฟ้าฝันแปรอัตโนมัติ (Ft) ในเรื่องใด
อันดับที่ 1 ราคาสินค้าและวัตถุดิบที่ต้องปรับตัวสูงขึ้นตามต้นทุนค่าไฟฟ้า 76.7% อันดับที่ 2 ความสามารถในการแข่งขันลดลงจากต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ปรับเพิ่มขึ้น 61.4% เมื่อเทียบกับเวียดนามที่คงค่าไฟฟ้าที่ 2.8 บาทตลอดปี 2565 อันดับที่ 3 กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และกำลังซื้อที่หดตัว 55.8% และ อันดับที่ 4 เร่งอัตราเงินเฟ้อให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น 49.8%
4. ภาครัฐควรดำเนินมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าอย่างไร
อันดับที่ 1 ทยอยปรับขึ้นค่า Ft โดยให้ค่าไฟฟ้ารวมเพิ่มขึ้นไม่เกิน 5% ต่องวด 68.8% (งวดละ 4 เดือน) อันดับที่ 2 ลดค่าไฟฟ้าให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อยและผู้ประกอบการ SMEs 52.1% อันดับที่ 3 เปิดให้สามารถซื้อขายไฟฟ้าระหว่างเอกชนผ่านสายส่งของการไฟฟ้า 50.2% และ อันดับที่ 4 ปรับลดอัตราการคิดค่าไฟฟ้าตามช่วงเวลาของการใช้ (TOU) 47.0% หรือปรับลดช่วงเวลา On Peak
5. ภาครัฐควรดำเนินการเพื่อป้องกันวิกฤตค่าไฟฟ้าแพงในระยะยาวอย่างไร
อันดับที่ 1 ทบทวนโครงสร้างค่าไฟฟ้าให้เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย 66.5% อันดับที่ 2 ส่งเสริมและปรับลดขั้นตอนให้เอกชนสามารถลงทุนโรงไฟฟ้า 60.9% เพื่อให้เกิดการแข่งขันเสรี อันดับที่ 3 ปรับลดขั้นตอนในการขออนุญาติใช้อุปกรณ์พลังงานหมุนเวียน 58.1% ในภาคธุรกิจและเอกชน และ อันดับที่ 4 ปรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) 53.0% โดยเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน
6. ภาคอุตสาหกรรมควรปรับตัวรับมือกับค่าไฟฟ้าที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างไร
อันดับที่ 1 การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนใช้ภายในโรงงาน 86.0% เช่น ติดตั้ง Solar Rooftop อันดับที่ 2 ปรับแผนการผลิตเพื่อลดต้นทุนพลังงาน 63.7% อันดับที่ 3 นำระบบการบริหารจัดการพลังงาน (EMS) มาใช้ 58.1% และปรับปรุงเครื่องจักรและอุปกรณ์เพื่อการอนุรักษ์พลังงาน และ อันดับที่ 4 ออกแบบและปรับปรุงอาคาร/โรงงานเพื่อการประหยัดพลังงาน 43.7%
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากมติสำนักคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เมื่อวันที่ 27 ก.ค.65 ที่เห็นชอบแนวทางการปรับขึ้นอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.65 มาอยู่ที่ 93.43 สตางค์/หน่วย เพิ่มขึ้น 68.66 สตางค์ต่อหน่วย จากค่า Ft งวดเดือน พ.ค.-ส.ค.65 ที่เก็บอยู่ 24.77 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลทำให้ค่าไฟฟ้าโดยรวมปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.72 บาท/หน่วย หรือเพิ่มขึ้นกว่า 18% จากค่าไฟฟ้างวดเดือน พ.ค.-ส.ค.65 ที่เก็บอยู่ 4 บาท/หน่วย