นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการหารือกับ ดร.ฮีชาม บิน ซาอัด อัล จาดฮี ประธานองค์การอาหารและยา ซาอุดีอาระเบีย (SFDA) หรือ อย.ซาอุฯ ว่า ขณะนี้ไทยสามารถส่งออกไก่มาซาอุฯ ได้แล้ว 11 โรงงาน ซึ่งเป็นโรงงานที่ผ่านการรับรองจาก อย.ซาอุฯ แล้ว และยังมีโรงงานชำแหละเนื้อไก่ของไทยอีก 28 โรงงาน ที่อยู่ระหว่างรอการตรวจสอบจากซาอุฯ ซึ่งในวันนี้ ตนได้ยื่นรายชื่อทั้ง 28 โรงงานให้กับทางซาอุฯ แล้ว เพื่อขอให้เร่งรัดกระบวนการตรวจสอบโรงงาน
"ทางซาอุฯ แจ้งว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างรอเอกสารทั้งหมดจากกรมปศุสัตว์ เราจะเร่งให้กรมปศุสัตว์ ส่งข้อมูลทั้งหมดไปตามที่ทาง อย.ซาอุฯ ต้องการ เพื่อเร่งดำเนินการตรวจสอบโรงงานให้โดยเร็วที่สุด" รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ กล่าว
ส่วนความเข้าใจที่ยังไม่ตรงกันในเรื่องการส่งออกชิ้นส่วนไก่ ซึ่งโรงงานในไทยหรือผู้ส่งออกไทย ยังเข้าใจผิดว่าไม่สามารถส่งออกไปซาอุฯ ได้นั้น ในข้อเท็จจริงแล้ว อย.ซาอุฯ อนุญาตให้ส่งออกได้แล้ว ซึ่งตนจะประสานกับโรงงานในไทยทั้ง 11 โรงงาน เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อไป
ส่วนเนื้อสัตว์ชนิดอื่น เช่น เนื้อวัว ซาอุฯ ยืนยันว่าต้องการสินค้าเพิ่ม โดยเฉพาะเนื้อวัวที่มีคุณภาพดี ราคาถูก และมีความปลอดภัย ซึ่งพร้อมนำเข้าจากหลายประเทศ โดยไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่พร้อมอำนวยความสะดวก ซึ่งในส่วนนี้จะต้องมีการประสานงานกันในรายละเอียดต่อไป
"อยากให้นักลงทุนของซาอุฯ ไปร่วมลงทุนที่เมืองไทย ให้การผลิตเนื้อหลายชนิดส่งออกมาซาอุฯ สะดวกคล่องตัวขึ้น เพราะเมื่อไปร่วมลงทุนจะทราบความต้องการ ตามหลักการของสินค้าฮาลาลที่ซาอุฯ ต้องการดีกว่าเรา" นายจุรินทร์ กล่าว
พร้อมกันนี้ อย.ซาอุฯ ยังต้องการพัฒนาความร่วมมือด้านวิชาการ ในการผลิตสินค้าฮาลาลที่ได้มาตรฐานกับประเทศไทย ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยมีศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดังนั้น ตนจะช่วยประสานกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประสาน อย.ซาอุฯ อีกครั้งหนึ่ง เพื่อเป็นการร่วมมือด้านวิชาการ ส่งเสริมการผลิตสินค้าอาหารฮาลาลร่วมกัน ให้ได้มาตรฐานในระดับที่ต้องการ
"การเจรจาครั้งนี้ จะเป็นผลดีกับการส่งออกสินค้าไทยในหลากหลายรูปแบบ หลากหลายสินค้า มายังซาอุฯ จะช่วยให้ตัวเลขการค้าต่อไปสูงขึ้น เพราะตัวเลขการค้าไทยกับซาอุฯ มีแนวโน้มที่ดี โดยเฉพาะ 7 เดือนแรกของปีนี้ ไทยสามารถส่งออกสินค้ามาซาอุฯ ได้เป็นบวกถึง 26% จะมีส่วนช่วยทำให้ตัวเลขดีขึ้นต่อไป" นายจุรินทร์ กล่าว
ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า ในการผลักดันการส่งออกสินค้าไก่และผลิตภัณฑ์ไปซาอุฯ ในปี 2562 SFDA ได้เดินทางมาตรวจสถานประกอบการทั้งโรงฆ่าสัตว์ปีก และโรงงานแปรรูปสัตว์ปีกของไทย 11 แห่ง เพื่อดำเนินการเปิดตลาดด้านสุขอนามัย สำหรับการดำเนินการนำเข้าสัตว์ปีกจากไทย
ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ได้เรียกร้องให้ซาอุฯ ยกเลิกมาตรการระงับการนำเข้าสินค้าสัตว์ปีกจากไทยตั้งแต่ปี 2552 ต่อมาในปี 2563 ซาอุฯ ได้ให้การยอมรับสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย (สกอท.) เป็นหน่วยงานออกเครื่องหมายรับรองฮาลาลของประเทศไทย (Certification Body) ทำให้ไทยเป็นประเทศแรกที่ไม่ใช่มุสลิม ที่มีหน่วยงานที่สามารถออกเครื่องหมายฮาลาลสำหรับการส่งออกสินค้าฮาลาลไปยังซาอุฯ ได้