น.ส.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยผ่านรายการโทรทัศน์เช้านี้ว่า จากการประชุมร่วมกับคณะอนุกรรมการวินิจฉัยภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กระทรวงการคลัง วานนี้ (30 ส.ค.) ทาง กทม. ได้นำเสนอประเด็นเพื่อขอหารือเรื่องการจัดเก็บภาษีที่ดิน ในส่วนของพื้นที่เกษตรกรรมว่าควรจะมีหลายอัตราได้หรือไม่ จากปัจจุบันที่อัตราการจัดเก็บไม่เกินเพดานที่ 0.15%
ทั้งนี้ เนื่องจาก กทม.มองว่า พื้นที่กรุงเทพฯ มีลักษณะของความเป็นเมืองที่มีความแตกต่างกันอยู่มาก เช่น พื้นที่ไข่แดงที่เป็นย่านธุรกิจสำคัญใจกลางเมือง กับพื้นที่ชายขอบกรุงเทพฯ ที่เป็นลักษณะชานเมือง ดังนั้นเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แม้จะเป็นพื้นที่เกษตรกรรมเหมือนกัน แต่ก็ควรจะมีอัตราที่แตกต่างกันไป ไม่ใช่เป็นอัตราเดียว
น.ส.เกษรา มองว่า กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง มีข้อกำหนดว่าอัตราภาษีของพื้นที่เกษตรกรรมที่เก็บได้นั้น เพดานสูงสุดต้องไม่เกิน 0.15% แต่ไม่ได้ระบุชัดว่าต้องเป็นอัตราเดียวกันทั้งหมด โดยระบุเพียงว่าเพดานสูงสุดที่เก็บได้ คือไม่เกิน 0.15% ดังนั้นความหมายคือ ถ้ากทม.จะเก็บภาษีในกลุ่มเกษตรกรรมตรงพื้นที่กลางเมืองสูงกว่าพื้นที่ชานเมือง ก็มีสิทธิที่จะเก็บ 0.15% หรือ 0.05% ก็ได้ เพราะถึงอย่างไร ก็ยังอยู่ภายใต้เพดานที่ไม่เกิน 0.15%
"เราเสนอว่า ความเป็นเมืองต่างกันมาก ราคาประเมินพื้นที่ไข่แดง กับปลายขอบเมืองต่างกันมาก ดังนั้นแรงจูงใจในการจะเอาที่ดินมาทำเกษตรกรรม เพื่อที่จะทำให้เสียภาษีในฐานต่ำ มีสูง ดังนั้นเราจึงเสนอไป และทำให้เห็นภาพชัดขึ้นว่าเป็นแบบนั้นจริง" ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. กล่าว
อย่างไรก็ดี ในที่ประชุมยังมีความเห็นที่แตกต่างกัน แต่ในภาพรวมแล้วกรรมการฯ หลายคนยอมรับว่าความเป็นเมืองของกรุงเทพฯ มีความแตกต่างกันสูง ดังนั้นในหลักการจึงเห็นด้วยที่ปรับอัตราการจัดเก็บภาษีที่ดินในส่วนของพื้นที่เกษตรกรรมให้เป็นไปตามสภาพของเมือง แต่มีประเด็นสำคัญคือ กทม.จะใช้อะไรเป็นเกณฑ์กำหนดว่าพื้นที่เกษตรกรรมไหนในกรุงเทพฯ ต้องเก็บภาษีทีดินในอัตราที่สูงกว่าอีกพื้นที่เกษตรกรรมหนึ่ง
ดังนั้น ที่ประชุมอนุกรรมการฯ จะขอนำประเด็นนี้ไปหารือกันในที่ประชุมคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน ซึ่งจะมีการประชุมอีกครั้งในเดือน ก.ย. โดยคาดว่าจะมีข้อสรุปว่าอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสำหรับพื้นที่เกษตรกรรมในกรุงเทพฯ จะสามารถเก็บได้หลายอัตราหรือไม่ รวมทั้ง กทม. จะมีอำนาจกำหนดอัตราการจัดเก็บได้เองหรือไม่ หากยังอยู่ภายใต้เพดานอัตราภาษีที่ดินฯ ในกรอบเดิม ซึ่งในท้ายสุดแล้วจะต้องนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของสภากรุงเทพมหานครอีกครั้ง เพื่อออกข้อบัญญัติบังคับใช้