นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษในงาน "Thailand Ready : Moving onto the Next Chapter" โดยเชื่อว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง จะยังสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่องจากครึ่งปีแรกที่โต 2.4% เนื่องจากยังได้รับอานิสงส์จากภาคการท่องเที่ยว หลังจากรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการการเดินทางเข้าประเทศ ทำให้คาดว่าปีนี้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเดินทางเข้าไทย ราว 8-10 ล้านคน ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และเชื่อว่าจะดีต่อเนื่องไปจนถึงปี 66
ขณะที่ภาคการส่งออกก็ยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค. - ก.ค. 65) มูลค่าการส่งออกขยายตัว 11% ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการจ้างงานกลับมาดีขึ้น
รมว.คลัง ระบุว่า ปัจจัยหนุนต่าง ๆ ดังกล่าว จะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ ขยายตัวได้ 3-3.5% ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.), ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลังคาดการณ์ไว้ ขณะที่เงินเฟ้อ คาดว่าจะขึ้นไปสูงสุดในไตรมาส 3 โดยทั้งปี 65 ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 6% ซึ่ง ธปท. ได้เข้ามาดูเรื่องเสถียรภาพราคาสินค้าหลังจากอัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นมาก ผ่านการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% และจะมีการประเมินอีกครั้งในเดือน ก.ย.นี้
"แม้ว่านักวิเคราะห์ส่วนใหญ่จะมองว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ช้า แต่ก็ถือว่าอยู่ในระดับที่มั่นคงและต่อเนื่อง ซึ่งดีกว่าการที่เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว และสุดท้ายก็ฟุบลงมา เพราะมีปัจจัยอื่นเข้ามากระทบ เช่น การระบาดของโควิด-19 จนทำให้ทางการต้องมีการใช้มาตรการควบคุมที่เข้มข้นมากขึ้น แต่ที่ผ่านมา รัฐบาลใช้วิธีการที่สมดุลระหว่างการควบคุมการระบาด และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจควบคู่กันไป เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพ" รมว.คลัง กล่าว
สำหรับปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่อให้สามารถเติบโตได้ในระยะต่อไป รัฐบาลให้ความสำคัญกับ 5 เรื่อง ได้แก่ 1. การเดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2. การสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) 3. การพัฒนาพื้นที่ EEC ซึ่งปัจจุบันมีการยื่นคำขอลงทุนแล้ว 9 แสนล้านบาท 4. นโยบายการคลังที่ต้องเน้นเรื่องความยั่งยืนมากขึ้น และ 5. ภาคการเงินที่มุ่งไปสู่โครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
นายอาคม ยอมรับว่า ในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้รัฐบาลมีการใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น ผ่านการกู้เงินรวม 1.5 ล้านล้านบาท ซึ่งถือเป็นการเพิ่มหนี้สาธารณะของประเทศ แต่ก็ไม่ใช่ประเทศไทยที่เดียว แต่เป็นเหมือนกันทั่วโลก ซึ่งรัฐบาลได้ขยายเพดานหนี้สาธารณะจาก 60% เป็น 70% ต่อจีดีพี เพื่อให้ครอบคลุมหนี้ในส่วนที่รัฐบาลกู้เพิ่ม และยังเป็นการเพิ่มช่องทางให้ภาครัฐสามารถใช้จ่ายได้ในกรณีที่จำเป็น เป็นการเพิ่มพื้นที่ทางการคลัง
"การกู้เงินดังกล่าว เพื่อมาช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด ผ่านมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ แต่เมื่อเศรษฐกิจเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ ความจำเป็นของมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ ก็ต้องปรับลดลงไป" นายอาคม กล่าว
ปัจจุบัน หนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือน ก.ค. 2565 อยู่ที่ระดับ 60.75% ซึ่งถือว่ายังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง รวมถึงกระทรวงการคลังยังเร่งปรับเพดานหนี้ตามมาตรา 28 ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ. 2561 ที่ก่อนหน้านี้ได้ปรับเพิ่มเป็น 35% เป็นการชั่วคราว โดยเมื่อสามารถใช้เงินจากงบประมาณมาคืนได้ ก็จะทำให้เพดานหนี้ในส่วนดังกล่าวปรับลดลงมาอยู่ในระดับปกติที่ 30%
นายอาคม กล่าวอีกว่า วุฒิสภาได้อนุมัติร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 วงเงิน 3.185 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.5 หมื่นล้านบาทจากปีงบประมาณ 2565 โดยเป็นงบประมาณแบบขาดดุลที่ 6.9 แสนล้านบาท ลดลงจากปีงบประมาณ 2565 ที่ขาดดุล 7 แสนล้านบาท ซึ่งถือเป็นการส่งสัญญาณการเดินหน้าเข้าสู่การจัดทำงบประมาณสมดุลในระยะต่อไป
ขณะเดียวกัน ด้านรายได้ก็ต้องพิจารณาขยายฐานภาษี ปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดเก็บ โดยงบประมาณรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นนั้น เนื่องจากรัฐบาลยังต้องทำหน้าที่ในการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป
"ในปีงบประมาณ 2566 รัฐบาลมีงบขาดดุล ซึ่งถือเป็นงบลงทุนราว 6.95 แสนล้านบาท และเมื่อรวมกับงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจอีก 3 แสนกว่าล้านบาท เม็ดเงินลงทุนภาครัฐในส่วนนี้รวมเป็นเกือบ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งจะเข้าไปช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านโครงการลงทุนที่สำคัญ ๆ ในอนาคต เป็นการช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้ประเทศ ขณะเดียวกันรัฐบาลจะขับเคลื่อนโครงการลงทุนผ่านโครงการ PPP มากขึ้น เป็นการแบ่งเบาภาระของภาครัฐ" รมว.คลัง ระบุ