KKP มองท่องเที่ยวหนุน GDP ไทยปี 65-66 แต่ส่งออกแรงตก-ยังเสี่ยงบาทอ่อนหนัก

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 5, 2022 12:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร ปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจของไทยปี 65 เป็น 3.4% และปรับตัวเลข GDP ลงเหลือ 3.6% จาก 3.9% ในปี 66 โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงหลังจากนี้จะเจอกับทั้งปัจจัยบวกและลบ โดยภาคการท่องเที่ยวยังสามารถฟื้นตัวได้จากฐานที่อยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ และคาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 10.2 ล้านคนในปี 65 และ 18.5 ล้านคนในปี 66 ซึ่งเป็นปัจจัยบวกหลักที่จะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ขณะที่ภาคการส่งออกมีแนวโน้มชะลอตัว คาดว่าในปี 66 สัญญาณเศรษฐกิจโลกจะเริ่มมีการชะลอตัวลงที่ชัดเจนขึ้นและโอกาสเข้าสู่ภาวะถดถอยจะมีมากขึ้นในช่วงปลายปี 66 ซึ่งเป็นผลส่วนหนึ่งจากการปรับดอกเบี้ยขึ้นอย่างรวดเร็วของธนาคารกลางทั่วโลก ทำให้คาดการณ์ว่าการส่งออกของไทยจะหดตัวลงในปี 66

KKP ระบุว่า หลังจากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่องหลายไตรมาสของไทยจากการท่องเที่ยวที่หายไปและต้นทุนค่าขนส่งสินค้าที่ปรับตัวขึ้นอย่างมาก ในกรณีฐาน ประเมินว่าดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยจะกลับมาเกินดุลได้เล็กน้อยตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยพยุงค่าเงินบาทไม่ให้อ่อนค่าไปไกลแม้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของไทยและสหรัฐ ฯ จะอยู่ในระดับที่สูงมากแล้วก็ตาม

แต่ความเสี่ยงสำคัญ คือ ดุลบัญชีเดินสะพัดอาจติดลบได้และมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จาก (1) ราคาน้ำมันที่ยังอาจปรับสูงขึ้น และทำให้ดุลการค้าปรับตัวแย่ลงเนื่องจากไทยนำเข้าน้ำมันมากกว่าส่งออก (2) แม้การท่องเที่ยวจะฟื้นตัวได้ดีแต่มีความเสี่ยงชะลอตัวลงในปีหน้า โดยเฉพาะเมื่อดูข้อมูลราคาตั๋วเครื่องบินจะพบว่าในปัจจุบันมีราคาที่ปรับตัวสูงขึ้นมากแล้ว ดังนั้นหากเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะ Stagflation จะทำให้การท่องเที่ยวได้รับผลกระทบ และ (3) การส่งออกที่อาจชะลอตัวลงตามการชะลอตัวของภาคการผลิตโลก โดยหากเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยรุนแรง อาจทำให้การส่งออกของไทยติดลบมากกว่าคาด

แม้หลายฝ่ายวิเคราะห์ว่าเศรษฐกิจที่กำลังมีแนวโน้มชะลอตัวลง อาจทำให้สามารถคลายความกังวลเรื่องเงินเฟ้อลงได้และธนาคารกลางทั่วโลกจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง โดยเฉพาะเมื่อฐานของเงินเฟ้อได้ปรับตัวสูงขึ้นมามากแล้วและราคาน้ำมันไม่ได้เร่งตัวขึ้น แต่ KKP Research ประเมินว่ามีความเสี่ยงที่แรงกดดันต่อเงินเฟ้อจะยังคงอยู่ในระดับสูงในระยะข้างหน้า ซึ่งเกิดจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ (1) ความเสี่ยงที่ราคาน้ำมันจะปรับตัวสูงขึ้น (2) ปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์โลกและอุปทานที่ยังคงมีปัญหา และ (3) อุปสงค์ในสหรัฐ ฯ ที่ยังหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจต่อไป

หากสถานการณ์เป็นเช่นนี้อาจทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงรุนแรงและส่งผลต่อเนื่องถึงเงินเฟ้อในประเทศ นักลงทุนส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าค่าเงินบาทจะกลับมาแข็งค่าได้ตามนักท่องเที่ยว หากการกลับมาของนักท่องเที่ยวและดุลบัญชีเดินสะพัดไม่เป็นไปตามคาด อาจทำให้เงินไหลออกจากไทยรุนแรง ซึ่งนับเป็นความเสี่ยงสำคัญของการดำเนินนโยบายการเงินไทยที่ยังมีการปรับดอกเบี้ยขึ้นช้าเมื่อเทียบกับหลายประเทศในโลก โดยในกรณีเลวร้ายจะทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องกลับมาปรับดอกเบี้ยขึ้นตามหลังสถานการณ์เพื่อคุมบาทและเงินเฟ้อ ซึ่งจะกระทบกับเศรษฐกิจแรงกว่าเดิม จึงนับเป็นโจทย์สำคัญด้านนโยบายการเงินที่ต้องวางแผนสำหรับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ