BAY คาดกรอบเงินบาทสัปดาห์นี้ 36.50-37.00 ต่างชาติเริ่มปรับพอร์ต

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 5, 2022 15:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) คาดทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 36.50-37.00 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 36.72 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในกรอบ 36.30-36.85 บาท/ดอลลาร์ เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 5 สัปดาห์ ท่ามกลางแรงซื้อดอลลาร์ในตลาดโลก เงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงินสำคัญในสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯสูงขึ้น กดดันค่าเงินเยนสู่ระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 24 ปีครั้งใหม่

โดยตลาดเลือกที่จะตอบรับข้อมูลเศรษฐกิจเชิงบวกของสหรัฐฯ มากกว่าข้อมูลเชิงลบ และคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะขึ้นดอกเบี้ยอีก 75bp ในการประชุมเดือนนี้ อีกทั้งนักลงทุนกังวลเกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจจีน หลังมีการประกาศล็อคดาวน์อีกครั้ง ทางด้านค่าเงินยูโรได้แรงหนุนในช่วงแรกขณะที่เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ส่งสัญญาณสนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ยอย่างแข็งกร้าว และราคาก๊าซธรรมชาติร่วงลง

อย่างไรก็ดี ท้ายชั่วโมงการซื้อขายก่อนปิดสัปดาห์ เงินยูโรอ่อนค่าลงจากข่าวรัสเซียปิดซ่อมบำรุงท่อก๊าซอย่างไม่มีกำหนด ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติพลิกกลับมาขายหุ้นไทยสุทธิ 315 ล้านบาท และมียอดขายพันธบัตร 4,515 ล้านบาท โดยเกิดจากตราสารหนี้ครบอายุเป็นหลัก

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี คาดว่าตลาดจะติดตามดัชนี ISM ภาคบริการเดือนสิงหาคมของสหรัฐฯ และการประชุมธนาคาร ECB ซึ่งคาดว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 75bp จากระดับ 0% ในวันที่ 8 กันยายน ขณะที่ตำแหน่งการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนสิงหาคมของสหรัฐฯเพิ่มขึ้นเกินคาด แต่เริ่มมีสัญญาณบ่งชี้ถึงการชะลอตัวของอัตราค่าจ้างเฉลี่ยรายชั่วโมง

อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมนักลงทุนเชื่อว่าเฟดจะยังไม่ผ่อนคันเร่งในการขึ้นดอกเบี้ยในเวลานี้ ซึ่งสอดคล้องกับสุนทรพจน์ของประธานเฟดในงานสัมมนาวิชาการที่เมือง Jackson Hole และความเห็นจากเจ้าหน้าที่เฟดอีกหลายราย ที่ปูทางสู่การคุมเข้มนโยบายอย่างดุดันต่อไป เพื่อจัดการกับภาวะเงินเฟ้อสูง เราประเมินว่าในภาวะเช่นนี้ ประกอบกับวิกฤติพลังงานในยุโรป และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ค่าเงินดอลลาร์จะยังคงได้แรงหนุนต่อไปในระยะสั้น

สำหรับปัจจัยในประเทศ คาดว่าเงินเฟ้อทั่วไปเดือนสิงหาคมจะเป็นจุดสูงสุด และจะทยอยโน้มต่ำลง ส่วนในเดือนกรกฎาคมไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูงถึง 4.1 พันล้านดอลลาร์ อนึ่ง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่าในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ จะพลิกกลับมาเกินดุลตามการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว ขณะที่การดำเนินนโยบายการเงิน จะพิจารณาบริบททางเศรษฐกิจของไทยเป็นสำคัญ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ