ครม.ไฟเขียวงบฯ-แผนการดำเนินงานองค์กรร่วมไทย-มาเลย์ ประจำปี 66

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 6, 2022 17:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบงบประมาณจำนวน 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และแผนการดำเนินงานประจำปี 2566 ขององค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย โดยองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย มีฐานะเป็นนิติบุคคล เกิดขึ้นจากบันทึกความเข้าใจระหว่างไทยและมาเลเซีย เกี่ยวกับการจัดตั้งองค์กรร่วม เพื่อแสวงประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นดินใต้ทะเลในบริเวณที่กำหนดของไหล่ทวีปของทั้ง 2 ประเทศในอ่าวไทย โดยเฉพาะปิโตรเลียมในพื้นที่ดินใต้ทะเลบริเวณอ่าวไทยตอนล่างที่ไทยและมาเลเซียอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน ซึ่งเรียกว่า พื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (MTJDA) ซึ่งบันทึกความเข้าใจดังกล่าว มีผลใช้บังคับระหว่างกันเป็นเวลา 50 ปี นับตั้งแต่ได้มีการแลกเปลี่ยนสัตยาบันสาร เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2522

โดยงบประมาณปี 66 ที่องค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย เสนอขอครั้งนี้จำนวน 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นการจัดทำรายละเอียดคำขอขึ้นตามพื้นฐานกิจกรรมการดำเนินงานขององค์กรร่วมฯ ในสถานการณ์ปกติ ซึ่งสูงกว่างบประมาณปี 2565 ที่ได้รับอนุมัติภายใต้สภาวะเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) 22% ประกอบด้วยค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน 4,836,100 ดอลลาร์สหรัฐ และค่าใช้จ่ายที่เป็นทุน 163,900 ดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนที่มาของงบประมาณนั้น องค์กรร่วมฯ ได้เสนอขอใช้เงินที่ได้รับจากการขายปิโตรเลียมส่วนที่เป็นกำไรในไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 จำนวน 4,271,916 ดอลลาร์สหรัฐ และงบประมาณเหลือจ่ายของปี 2564 จำนวน 728,084 ดอลลาร์สหรัฐ และได้ประมาณการรายได้รวมขององค์กรร่วมฯในปีงบประมาณ 2566 อยู่ที่จำนวน 667 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ประกอบด้วยค่าภาคหลวง 181 ล้านดอลลาร์สหรัฐและปิโตรเลียมส่วนที่เป็นกำไรจำนวน 486 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ขณะที่ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นได้แก่ ค่าใช้จ่ายบุคลากร ประกอบด้วย เงินเดือนพนักงาน ค่าเบี้ยเลี้ยงและสวัสดิการ เพิ่มขึ้น 16.2%, ค่าใช้จ่ายในการเดินทางของคณะกรรมการองค์กรร่วมฯและเจ้าหน้าที่ เพิ่มขึ้น 50%, ค่าเช่า เช่น พื้นที่สำนักงาน อุปกรณ์สำนักงาน เพิ่มขึ้น 6%, ค่าบริการและค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพิ่มขึ้น 18.5%, ค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม เพิ่มขึ้น 68.2% และค่าใช้จ่ายที่เป็นทุน เพิ่มขึ้น 1,539% ส่วนค่าใช้จ่ายที่ลดลง คือ ค่าบำรุงรักษาและซ่อมแซม เช่น ค่าบำรุงรักษาสำนักงาน ยานพาหนะ อุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกภายในสำนักงานลดลง 12%

สำหรับแผนการดำเนินงานขององค์กรร่วมฯในปี 66 ที่สำคัญเช่น เจาะหลุมประเมินผลจำนวน 1 หลุมในแหล่ง Senja , เจาะหลุมปิโตรเลียมในแหล่ง Bumi Deep Phrase 1 and 2 จำนวน 7 หลุม, รักษาระดับอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติที่เรียกรับสูงสุด(CDC) ในอัตรา 869 ล้านลูกบาศก์ฟุต และประสานงานกับบริษัท ทรานส์ไทย-มาเลเซีย (TTM) เพื่อให้การผลิตก๊าซเป็นไปตามสัญญา เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ