นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ "บทบาทนโยบายด้านการเงิน ในการกอบกู้และก้าวต่อของเศรษฐกิจไทย" โดยระบุว่า ธปท. ได้ดำเนินนโยบายด้านการเงินโดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ เพื่อให้เศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นตัวในช่วงหลังโควิด-19 ได้อย่างต่อเนื่องและไม่สะดุด หรือเรียกว่า Smooth Takeoff ซึ่งในภาวะที่ประเทศไทยเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นนั้น หากไม่มีการดำเนินการอะไรเลย ก็จะเป็นการบั่นทอนอำนาจซื้อของครัวเรือน และทำให้การคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะกลางของภาคธุรกิจสูงขึ้นจนหลุดกรอบเป้าหมาย ดังนั้นสิ่งที่ ธปท.จะต้องทำ คือพยายามไม่ให้เครื่องยนต์เงินเฟ้อติด ในขณะเดียวกันจะต้องดูแลให้ระบบการเงินและสถาบันการเงินยังสามารถทำงานได้ตามปกติ NPL ไม่สูง ลูกหนี้ยังอยู่รอดได้มากที่สุด และไม่ทิ้งผลข้างเคียงไว้ให้ระบบการเงิน
"นี่จึงเป็นเหตุที่ทำให้ ธปท. มีความจำเป็นจะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ในการประชุมรอบที่ผ่านมา เป็นการถอนคันเร่ง แต่ไม่ใช่การเหยียบเบรค ทั้งนี้เพื่อให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจไทยที่มีความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อสูง มากกว่าความเสี่ยงจากการเติบโตของเศรษฐกิจ" ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าว
พร้อมย้ำว่า การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยเพื่อให้กลับเข้าสู่ระดับปกตินั้น จะต้องปรับอย่างค่อยเป็นค่อยไป และให้สอดคล้องกับบริบทเศรษฐกิจที่เพิ่งเริ่มฟื้นตัว ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อที่สูงจากแรงกดดันด้านอุปทานเป็นหลัก ซึ่งแตกต่างจากบริบทของสหรัฐที่เศรษฐกิจเติบโตอย่างร้อนแรง และเงินเฟ้อที่สูงขึ้นมาจากฝั่งอุปสงค์เป็นหลัก จึงทำให้การดำเนินนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ปรับขึ้นดอกเบี้ยแบบแรงและเร็ว เพราะสหรัฐต้องการลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งเป็นการทำในลักษณะของ Soft Landing ในขณะที่บริบทของไทย เป็นการทำในลักษณะของ Smooth Takeoff
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า เมื่อเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดีนั้น โจทย์สำคัญ คือจะทำอย่างไรให้เศรษฐกิจไทยสามารถก้าวต่อไปได้อย่างไม่สะดุด และก้าวไปในทิศทางที่ถูกต้องอย่างสง่างามด้วย ซึ่งการวางนโยบายเพื่อก้าวต่อไปสู่โลกเศรษฐกิจยุคใหม่ ประกอบด้วย
1. กระแสดิจิทัล ที่ทุกภาคส่วนจะได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากการใช้เทคโนโลยี ด้วยหลักการสมดุลระหว่างนวัตกรรมกับความเสี่ยง ผ่าน 3 Open คือ Competition, Data และ Infrastruture
2. ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม โดยการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวได้อย่างราบรื่นและทันการณ์ ซึ่ง ธปท.ต้องการเห็นธุรกิจเข้าถึงแหล่งทุนได้สะดวกขึ้น และสามารถแข่งขันได้ ประชาชนเริ่มปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียว ในขณะที่ภาคการเงินเองให้การสนับสนุนและมีบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์ภาคธุรกิจที่จะเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียว
3. หนี้ครัวเรือน ซึ่งการจะหลุดจากกับดักหนี้และไปต่อได้นั้นเชื่อว่าจะต้องใช้เวลา และมีการแก้ปัญหาอย่งครบวงจร กล่าวคือ การแก้หนี้ควบคู่ไปพร้อมกับการสร้างรายได้ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ขณะเดียวกันการออกมาตรการแต่ละเรื่อง จะต้องไม่สร้างภาระให้แก่ลูกหนี้เพิ่ม รวมทั้งไม่ปิดโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อ
4. การลงทุน โดยที่ผ่านมาเครื่องยนต์ของการเติบโตด้านการลงทุนแผ่วลง ดังนั้นจะต้องเร่งให้เครื่องยนต์การลงทุนติด ภาครัฐต้องลดหรือยกเลิกกฎระเบียบที่ไม่เอื้อต่อการลงทุน เพื่อช่วยทำให้การลงทุนกลับมาเติบโตในรูปแบบที่ควรจะเป็น
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์ได้คลี่คลายและเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจแล้ว โดยในปีนี้คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้ในระดับ 3% ขณะที่ปี 66 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ในระดับ 4%
ที่ผ่านมา ธปท. มีหลักการสำคัญในการดำเนินนโยบายทางการเงิน เพื่อจะกอบกู้เศรษฐกิจในช่วงโควิด ดังนี้
1. คิดและทำแบบองค์รวม (Holistic) โดยการผสมผสานนโยบาย เน้นบทบาทที่เหมาะสมของแต่ละเครื่องมือ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือทางการคลัง เช่น การเพิ่มกำลังซื้อ, การลดค่าใช้จ่าย และเครื่องมือทางการเงิน เช่น การผ่อนคลายนโยบายการเงิน การลดต้นทุนการเงิน ตลอดจนการใช้มาตรการทางการเงินในการช่วยเหลือลูกหนี้
2. ยืดหยุ่นตามสถานการณ์ (Flexible) โดยปรับให้เหมาะสมกับบริบท เพื่อทำให้การช่วยเหลือสามารถทำได้อย่างตรงจุดมากขึ้น เช่น การใช้มาตรการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มที่ตรงกับเป้าหมายมากขึ้น จากเดิมที่เป็นมาตรการแบบปูพรม
3. ใช้ได้จริง (Practical) เป็นมาตรการที่ตรงจุด ทันสถานการณ์ เน้นขับเคลื่อนให้เห็นผล รู้ว่ามาตรการใดควรทำหรือไม่ควรทำ โดยให้เหมาะสมกับบริบทของไทยมากที่สุ และต้องไม่ส่งผลข้างเคียงในระยะยาว