นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมการประชุมคณะทำงานร่วมด้านการเกษตร ออสเตรเลีย-ไทย ครั้งที่ 22 (The 22nd Meeting of the Australia-Thailand Joint Working Group on Agriculture: JWG) โดยมี นายคริส ทีนนิ่ง (Mr. Chris Tinning) ผู้ช่วยปลัดด้านการค้าและการต่างประเทศ กระทรวงเกษตร น้ำ และป่าไม้ หัวหน้าคณะผู้แทนออสเตรเลีย เป็นประธานร่วมฝ่ายออสเตรเลีย ณ นครเมลเบิร์น เครือรัฐออสเตรเลีย
ทั้งนี้ เนื่องในโอกาสครบรอบปีที่ 70 ของความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและออสเตรเลีย ทั้งสองฝ่ายได้เน้นย้ำถึงการปฏิบัติตามข้อตกลงเขตการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2548 (17 ปี) โดยไทยและออสเตรเลียเสริมสร้างความร่วมมือด้านการเกษตร รวมถึงด้านการค้า การแลกเปลี่ยนนโยบาย และกิจกรรมความร่วมมือทางวิชาการต่างๆ เป็นอย่างดีเสมอมา
ในการประชุม JWG ไทย-ออสเตรเลีย ครั้งที่ 22 ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนด้านนโยบายการเกษตร ฝ่ายไทยได้นำเสนอการขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ ตั้งแต่ระดับโลกตามแนวทางขององค์การสหประชาชาติ (UN) เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และนโยบายระดับประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี การดำเนินการตามร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ในระยะ 5 ปีถัดไป (พ.ศ. 2566-2570) รวมถึงนโยบาย Agri Challenge Next Normal 2022 ซึ่งตอบรับนโยบายการเป็นครัวของโลก (Kitchen of the World) โดยฝ่ายออสเตรเลียนำเสนอแผนการพัฒนาการเกษตรของออสเตรเลีย
นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายรับทราบความก้าวหน้าของโครงการความร่วมมือด้านการเกษตร ระหว่างไทยกับออสเตรเลีย รวม 5 ด้าน ได้แก่
1. การพัฒนาเกษตรกรเพื่อเสริมสร้างศักยภาพเกษตรกรต้นแบบและเกษตรกรรุ่นใหม่ ผ่านการฝึกงานในลักษณะ On the Job Training (OJT) เป็นเวลา 6 เดือน ณ สวนผลไม้ที่เมืองดาร์วิน ทางตอนเหนือของเครือรัฐออสเตรเลีย
2. ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการเกษตรในการพัฒนาการพยากรณ์สินค้าเกษตรของไทย
3. ความร่วมมือด้านปศุสัตว์เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีช่วยในการจัดการฟาร์มโคนม และการยกระดับด้านการผลิตและการตลาดโคเนื้อ
4. ความร่วมมือด้านน้ำในด้านการประยุกต์ใช้แนวทางการให้สิทธิและการขอใช้น้ำ (Water Requesting and Sharing) ในพื้นที่ที่ระบบการส่งน้ำที่มีจำกัด และด้านการบริหารจัดการน้ำและการตรวจสอบคุณภาพน้ำ
5. ความร่วมมือด้านการประมงเกี่ยวกับวิธีการประเมินสภาวะทรัพยากรสัตว์น้ำ และวิธีการจัดการประมงของไทยและออสเตรเลีย
นายทองเปลว กล่าวว่า ภายหลังการประชุมฯ ประธานร่วมฝ่ายไทยและฝ่ายออสเตรเลีย ได้ลงนามในเอกสารถ้อยแถลงร่วม (Joint Statement) โดยมีเนื้อหาที่กล่าวถึงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างไทยและออสเตรเลียที่มีมาอย่างยาวนาน ภายใต้กรอบข้อตกลงเขตการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) และความร่วมมือทางด้านการเกษตรระหว่างกัน
ทั้งนี้ เมื่อเดือนพ.ย. 2563 ได้มีการยกระดับความสัมพันธ์ไทย-ออสเตรเลียไปสู่การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership) ทำให้เกิดโอกาสใหม่ๆ เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น และสร้างความก้าวหน้าและความยั่งยืนในภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารให้มากขึ้น และการค้าระหว่างกันก็มีบทบาทสำคัญในการสร้างความมั่งคั่ง และสนับสนุนความมั่นคงด้านอาหารอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ ในด้านการอำนวยความสะดวกให้กับผู้นำเข้า ผู้ส่งออก และเกษตรกร ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบที่จะเร่งดำเนินการเปิดตลาดสินค้าเป็ดปรุงสุกจากประเทศไทยและอะโวคาโดพันธุ์ Hass จากรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย ซึ่งคาดว่าจะสามารถเสร็จสิ้นภายในปี 2565 นี้ และรัฐมนตรีของทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันประกาศความสำเร็จในครั้งนี้ และยืนยันการเริ่มการค้าของสินค้าทั้งสองชนิดนี้ระหว่างกัน
อนึ่ง ออสเตรเลียเป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตร อันดับที่ 34 ของไทย มูลค่าการค้าสินค้าเกษตร ไทย-ออสเตรเลีย ปี 2564 รวม 65,895 ล้านบาท โดยไทยส่งออกสินค้าเกษตรไปออสเตรเลีย 28,588 ล้านบาท และไทยนำเข้าสินค้าเกษตรจากออสเตรเลีย 37,306 ล้านบาท สินค้าเกษตรที่ไทยส่งออกไปออสเตรเลียที่สำคัญ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋อง ข้าวสาร อาหารสัตว์ ผักและผลไม้ ของปรุงแต่งจากผลไม้ และสินค้าเกษตรที่ไทยนำเข้าจากออสเตรเลียที่สำคัญ ได้แก่ ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ นมและผลิตภัณฑ์จากนม
นอกจากนี้ นายทองเปลว ยังได้มีการหารือและเร่งรัดการตรวจประเมินโรงงานเป็ดปรุงสุกของประเทศไทย โดยธุรกิจอุตสาหกรรมเป็ดปรุงสุกของประเทศออสเตรเลีย มีกำลังการผลิตอยู่ประมาณ 8 ล้านตัว/ปี (คิดเป็นเนื้อเป็ด 18,000 ตัน) เป็นมูลค่าประมาณ 100 ล้านเหรียญออสเตรเลีย (ประมาณ 2.4 พันล้านบาท) โดย 95% ส่งขายตลาดในประเทศ และมีแนวโน้มขยายตัว 5% ต่อปี ซึ่งมีโอกาสการเติบโตจากผู้บริโภคชาวเอเชีย ที่มีความต้องการบริโภคเป็ดปรุงสุกเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เล็งเห็นว่า ธุรกิจเป็ดปรุงสุกของไทยมีศักยภาพเติบโตในตลาดออสเตรเลีย ซึ่งคาดการณ์ว่า หากเปิดตลาดสำเร็จ จะสามารถนำร่องเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ บริโภคได้มากกว่า 500 ตันต่อปี คิดเป็นมูลค่าประมาณ 100-150 ล้านบาท และพร้อมขยายตลาดในปีต่อไป ซึ่งนับเป็นโอกาสสำคัญของเกษตรกรและภาคธุรกิจการเกษตรไทย
อย่างไรก็ดี เบื้องต้นฝ่ายออสเตรเลีย ให้ความมั่นใจว่าจะสามารถเดินทางมาตรวจประเมินโรงงานเป็ดปรุงสุก ณ ประเทศไทยในช่วงเดือนต.ค.นี้ และหากผลการตรวจประเมินโรงงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ด้วยศักยภาพของประเทศไทย คาดว่าจะสามารถส่งออกเป็ดปรุงสุกล็อตแรกไปยังออสเตรเลียได้ภายในเดือนธ.ค. 2565