สรรพสามิต ศึกษาเก็บภาษีเหล้า-เบียร์-บุหรี่ไฟฟ้า-แบตเตอรี่รถยนต์ คาดชัดเจนปี 66

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 7, 2022 17:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สรรพสามิต ศึกษาเก็บภาษีเหล้า-เบียร์-บุหรี่ไฟฟ้า-แบตเตอรี่รถยนต์ คาดชัดเจนปี 66

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ภายใต้การเดินหน้าแผนยุทธศาสตร์ ปี 2566 นี้ กรมฯ ได้ทำตามกลยุทธ์ EASE Excise ซึ่งหมายถึงการเป็นกรมสรรพสามิตที่ยืดหยุ่นมีความคล่องตัว มุ่งสู่การเป็นผู้นำการจัดเก็บภาษี สิ่งแวดล้อม สังคม และมีธรรมาภิบาล เพื่อเดินหน้าสู่ความยั่งยืน โดยจะมุ่งดำเนินงานภายใต้ 4 เสาหลัก (Pillar) ได้แก่

เสาที่ 1 ESG/BCG Focus คือการใช้มาตรการทางภาษีเพื่อส่งเสริมศักยภาพให้กับสินค้า/บริการในกลุ่ม ESG/BCG และให้ความสำคัญในแนวทางการใช้มาตรการภาษีในการลดผลกระทบเชิงสังคม โดยเฉพาะในเรื่องสุขภาพ เพื่อเป็นการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับพี่น้องประชาชน ความมั่นคงของประเทศด้วย

เสาที่ 2 Agile way of working คือการทำงานที่เน้นความคล่องตัว พัฒนาบุคลากรให้มีทักษะหลากหลายและจำเป็นต่อการปฏิบัติงานยุคใหม่ อาทิ Digital Skill, Data Skill เป็นต้น รวมถึงระบบการถ่ายทอดความรู้จากคนรุ่นเก่าสู่คนรุ่นใหม่ การใช้ระบบการทำงานแบบ Agile และการนำกระบวนการ Design Thinking มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้รวดเร็ว คล่องตัว และสร้างสรรค์ เพื่อเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว

เสาที่ 3 Standardization คือการปรับเปลี่ยนกระบวนงานในทุกมิติเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่องค์กรดิจิทัล (Digital Transformation) และนำประสบการณ์ของผู้เสียภาษีมาสร้างมาตรฐานการให้บริการ (Service Standard) รวมทั้งการนำระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดีที่คำนึงถึงสังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาล (ESG) มาใช้ในกรมสรรพสามิต

เสาที่ 4 End-to-End Customer-Centric Service บริการผู้เสียภาษีตั้งแต่ต้นจนจบในทุกช่องทางแบบไร้รอยต่อ (Omni Channel) สร้างต้นแบบหน่วยงานบริการแบบไร้กระดาษ (Paperless) มุ่งสู่การเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการดำเนินการสู่ความยั่งยืน

"ด้วยยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ที่กรมสรรพสามิตตั้งใจจะขับเคลื่อนนี้ จะเป็นการวางรากฐานให้ประเทศมีความสามารถในการแข่งขัน สร้างเศรษฐกิจให้เติบโต ส่งเสริมสังคม และสนับสนุนให้ประชาชนในประเทศ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งในด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม โดยกรมสรรพสามิตจะเน้นการเป็นกลไกสำคัญของประเทศที่ส่งเสริมให้สังคมน่าอยู่ เศรษฐกิจมั่นคงเข้มแข็งและมีเสถียรภาพ พร้อมทั้งช่วยยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศให้มีมาตรฐานสากล สร้างประโยชน์สูงสุด และความยั่งยืนให้กับประชาชนและประเทศชาติต่อไป" นายเอกนิติ กล่าว

นายเอกนิติ กล่าวว่า ในกลยุทธ์ ESG/BCG Focus จะช่วยสนับสนุนการดูแลสิ่งแวดล้อม และดูแลสุขภาพประชาชนมากขึ้น ยกตัวอย่างผ่านการปฎิรูปโครงสร้างภาษีสินค้า 6 ประเภท ศึกจะจัดทำผลการศึกษาให้แล้วเสร็จในปีงบประมาณ 2566 คือ

1.การสนับสนุนการนำเอทานอลบริสุทธิ์มาใช้ในการผลิตพลาสติกชีวภาพ (Bio Plastic) 2.เชื้อเพลิงชีวภาพอากาศยาน (Bio Jet) 3.การปรับโครงสร้างภาษีแบตเตอรี่รถยนต์ โดยให้ความสำคัญกับกระบวนการรีไซเคิล โดยลดภาษีให้กับแบตเตอรี่ที่สามารถรีไซเคิลได้ 4.เพิ่มพิกัดอัตราภาษีคาร์บอนเครดิต 5.เพิ่มพิกัดภาษีบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงกรมสรรพสามิตจะเข้าไปช่วยเรื่องการปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้าด้วย และ 6.เพิ่มพิกัดเรื่องสุรา เบียร์ ภาษีเบียร์ ที่แอลกอฮอล์ 0%

"ภายในปีนี้ ได้ไบโอพลาสติก ไบโอเจ็ท เรื่องแบตเตอรี่ เหล้า เบียร์ 0%แน่ๆ ตั้งใจให้ได้พิกัดออกมา และจะให้ได้เรตด้วย" นายเอกนิติ กล่าว

อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า จากการศึกษาพบว่า เทรนด์คนรุ่นใหม่เลือกบริโภค สุรา เบียร์ 0% มากขึ้น ซึ่งกรมฯ เตรียมกำหนดพิกัดภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 0% ขึ้น โดยมีอัตราระหว่างภาษีเครื่องดื่ม และภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเมื่อพิกัดภาษีมีผลบังคับใช้ สุรา เบียร์ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์สูงกว่ากำหนด จะต้องเสียภาษีสรรพสามิตเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นการลดอัตราการบริโภค และดูแลสุขภาพประชาชน เช่นเดียวกับ บุหรี่ไฟฟ้า ต้องมีการกำหนดพิกัดอัตราภาษี เพื่อให้สามารถควบคุม ปราบปราม บุหรี่ไฟฟ้าลักลอบเป็นการช่วยเหลือสาธารณสุขได้อีกทางหนึ่ง

"อะไรที่แอลกอฮอล์เยอะๆ ทำลายตับเรา เราก็จะเก็บเยอะ นี้คือหลักที่เราจะทำ บริษัทเบียร์ บริษัทเหล้า ถึงอย่างไรเขาเข้าใจเทรนด์เด็กรุ่นใหม่อยู่แล้ว และในเชิงของภาษี น่าจะอยู่ในหมวดเครื่องดื่ม" นายเอกนิติ กล่าว

สำหรับเป้าจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิต ปี 65 คาดว่าจะจัดเก็บรายได้อยู่ที่ประมาณ 5 แสนล้านบาท สาเหตุที่รายได้ลดลง ส่วนหนึ่งมาจากการลดอัตราภาษีน้ำมัน ส่วนปี 66 คาดว่าจะอยู่ที่ 5.67 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 10% ถือเป็นเป้าที่ท้าทาย

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าบทบาทของกรมสรรพสามิต นอกจากการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแล้ว ยังเป็นส่วนสำคัญในการสร้างมาตรฐานและผลักดันในเรื่องดังกล่าวโดยใช้มาตรการภาษีสรรพสามิต ทั้งในด้านการสนับสนุนอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้เติบโต หรือในขณะเดียวกันก็สามารถใช้มาตรการภาษีในการช่วยลดการบริโภคในสินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ จึงเป็นที่มาของยุทธศาสตร์ "ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ด้วยภาษีสรรพสามิต โดยมุ่งเน้นสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) สร้างมาตรฐานสากล เดินหน้าประเทศไทยสู่ความยั่งยืน" เพื่อให้การขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ความยั่งยืน สอดคล้องตามนโยบายภาพใหญ่ของกระทรวงการคลังและภาครัฐ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ