พาณิชย์เปิดยุทธศาสตร์เจรจา FTA เน้นรักษาส่วนแบ่งตลาด-แก้อุปสรรคการค้า

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 28, 2008 15:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ยุทธศาสตร์การเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี(FTA) ของไทยจากนี้ไปจะมีเป้าหมายชัดเจนในการรักษาส่วนแบ่งตลาดสินค้าไทย ขยายตลาดสินค้าและบริการที่มีศักยภาพ ขยายการลงทุน ขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ใช้เป็นแหล่งวัตถุดิบเพื่อป้อนให้กับอุตสาหกรรมของไทย ใช้เป็นประตูการค้าไปสู่ประเทศใกล้เคียง ตลอดจนเป็นเวทีเจรจาแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้า 
สำหรับแนวทางในการเจรจาเปิดเสรีนั้นจะยึดหลักว่าหากสินค้ากลุ่มใดมีความพร้อมในการแข่งขันก็จะเปิดเสรีทันที แต่จะหารือกับภาคเอกชนและผู้ที่เกี่ยวข้องก่อน ส่วนสินค้าวัตถุดิบที่จำเป็นต่อการผลิตของอุตสาหกรรมภายในประเทศจะยึดหลักการลดภาษีเหลือ 0% แต่จะพิจารณาโดยดูอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบจากการลดภาษีด้วย
"กลุ่มสินค้าที่ไทยไม่พร้อมเปิดเสรี จะมีการสร้างภูมิคุ้มกันให้ โดยจะเจรจาเปิดเสรีที่ยาวนานขึ้น เช่น 15-20 ปี จะมีมาตรการปกป้องพิเศษและกำหนดโควตานำเข้าเอาไว้ เพื่อไม่ให้อุตสาหกรรมภายในได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ยังมีกองทุนรองรับการปรับตัวจากของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์" น.ส.ชุติมา กล่าว
ทั้งนี้เหตุผลที่ไทยต้องเร่งการเจรจากับประเทศต่างๆ เพิ่มขึ้น ทั้งในกรอบ FTA เดิม หรือ FTA กับประเทศคู่ค้าใหม่ๆ เพราะขณะนี้ประเทศคู่แข่งของไทยหรือประเทศที่เป็นตลาดสำคัญของไทยได้เจรจา FTA กับประเทศต่างๆ มากขึ้น หากไทยไม่เร่งเจรจาก็จะเสียโอกาสในการแข่งขันได้
สำหรับ FTA ที่ไทยทำกับประเทศต่างๆ และมีผลบังคับใช้แล้ว ได้แก่ ไทย-ออสเตรเลีย, ไทย-นิวซีแลนด์, อาเซียน-จีน, ไทย-อินเดีย เฉพาะสินค้านำร่อง 82 รายการ และไทย-ญี่ปุ่น, ส่วน FTA ไทย-เปรู มีการลงนามแล้วและรอบังคับใช้ ขณะที่ FTA อาเซียน-ญี่ปุ่น, อาเซียน-เกาหลี เจรจาเสร็จสิ้นแล้วรอการลงนาม
สำหรับ FTA ที่อยู่ระหว่างการเจรจา ได้แก่ ไทย-อินเดีย, ไทย-บิมส์เทค, ไทย-เขตการเสรียุโรป(เอฟตา) เป็นต้น ส่วน FTA ไทย-สหรัฐฯ และไทย-บาห์เรน หยุดการเจรจา

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ