นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2566 กรมสรรพสามิตเตรียมศึกษาแนวทางการจัดเก็บภาษีคาร์บอน (Carbon TAX) ซึ่งเป็น 1 ในเทรนด์ที่ท้าทายต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่จะส่งผลต่อการดำเนินงานของกรมสรรพสามิต หลังจากที่ทั่วโลกต่างเผชิญกับปัญหาภาวะโลกร้อน ส่งผลกระทบจนทำให้ทุกประเทศต้องให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมโดยใช้มาตรการทางภาษีเป็นตัวขับเคลื่อน นอกจากนี้ แนวทางดังกล่าวยังเป็นการสนับสนุนเป้าหมายของประเทศไทยในการเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2593 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี 2608
โดยเบื้องต้น กรมสรรพสามิตมีแนวทางในการสนับสนุนการนำเอทานอลบริสุทธิ์มาใช้ในการผลิตพลาสติกชีวภาพ (Bio Plastic) เชื้อเพลิงชีวภาพอากาศยาน (Bio Jet) ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้น ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตสินค้า และช่วยส่งเสริมให้มีการใช้วัตถุดิบทางการเกษตรเพิ่มขึ้นอีกด้วย
สำหรับหลักการในการจัดเก็บภาษีคาร์บอนนั้น นายเอกนิติ กล่าวว่า จะต้องศึกษาให้ชัดเจน โดยเฉพาะประเทศที่มีการนำมาใช้แล้ว เช่น กลุ่มประเทศยุโรป ที่มีการจัดเก็บภาษีคาร์บอนในอุตสาหกรรม 5 ประเภท คือ 1.ปูน 2.เหล็ก 3.อลูมิเนียม 4.ปุ๋ย และ 5.ไฟฟ้า ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานโลก และการจัดเก็บก็ทำได้ 2 รูปแบบ คือ 1.คำนวนจากสินค้าหน้าโรงงาน บริษัทใดผลิตออกมามาก ก็เก็บมาก 2. คำณวนจากกระบวนการผลิต ต้นน้ำ-ปลายน้ำ ซึ่งจะต้องร่วมมือกับองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก ว่าจะมีแนวปฏิบัติอย่างไร คาดว่าจะได้เห็นผลการศึกษาออกมาในปีงบประมาณ 2566
"การดูแลสิ่งแวดล้อม จะเป็นกติกาใหม่ของโลก ที่ผ่านมา ไทยยังไม่ take action สักเท่าไร แต่ภาษีสรรพสามิตจะเข้ามามีส่วนช่วยได้ โดยกลุ่มประเทศยุโรปได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว หากประเทศไหน มีการส่งออกสินค้าที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณสูง ก็จะถูกเก็บภาษีนำเข้า ซึ่งไทยก็ต้องยึดแนวทางปฏิบัติสากล ถ้าปล่อยคาร์บอนสูงจะเก็บภาษีสูง อะไรที่เป็นพลังงานทางเลือก ก็จะเก็บภาษีน้อยมากหรือไม่เก็บภาษีเลย" อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าว
นายเอกนิติ ยังกล่าวด้วยว่า ในปีงบประมาณ 2566 กรมสรรพสามิต ตั้งเป้าหมายการจัดเก็บรายได้ที่ 5.67 แสนล้านบาท แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลไปบ้าง แต่ก็เป็นผลระยะสั้น ดังนั้น สิ่งที่จะมาช่วยเรื่องรายได้ คือฐานภาษีใหม่ ๆ โดยเฉพาะภาษีสิ่งแวดล้อม