นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง การปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมไทยต่อวิกฤตพลังงานโลก ในงานสัมมนาวิชาการประจำปี Energy Symposium 2022 ว่า ด้วยสถานการณ์ราคาพลังงานในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งราคาน้ำมันดิบ, LPG และก๊าซธรรมชาติ จากสถานการณ์ความตึงเครียดรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ตลาดกังวลต่ออุปทานน้ำมันในตลาดโลก จากการคว่ำบาตรธุรกรรมทางการเงิน และบริษัทพลังงานหลายแห่งระงับการลงทุนในรัสเซีย ประกอบกับกลุ่มโอเปกพลัสที่ยังคงเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของภาคอุตสาหกรรม
ทั้งนี้กระทรวงพลังงาน ได้ตระหนักถึงวิกฤตพลังงาน โดยที่ผ่านมากระทรวงพลังงาน ได้ติดตามสถานการณ์พลังงานอย่างใกล้ชิด เพื่อบริหารจัดการพลังงานในช่วงของสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน และในช่วงเปลี่ยนผ่านด้านการจัดหาพลังงานเพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง รัฐบาลมีความพยายามในการแก้ไขปัญหามาตลอด โดยเฉพาะการใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงช่วยในการอุดหนุน แล้วกว่า 120,000 ล้านบาท รวมทั้งการลดภาษีสรรพสามิตเป็นการชั่วคราว ส่วนด้านราคาค่าไฟฟ้า ได้บริหารจัดหาเชื้อเพลิงอื่นที่มีต้นทุนถูกกว่าก๊าซมาผลิตไฟฟ้า ประคองค่า Ft ให้ปรับขึ้นไม่เกินกรอบที่ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ โดยที่ผ่านมาการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับภาระในเรื่องดังกล่าวแล้วประมาณ 80,000-100,000 ล้านบาท ซึ่งรวมแล้วรัฐบาลมีการอุดหนุนน้ำมันเชื้อเพลิง และการดูแลค่าไฟฟ้า กว่า 200,000 กว่าล้านบาท เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมและประชาชนน้อยที่สุด
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวต่อว่า ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันพรุ่งนี้จะพิจารณามาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าช่วงเดือนก.ย.-ธ.ค. 65 และต่อมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล โดยจะใช้งบกลางปี 65 และปี 66 ในการดำเนินการ
อีกทั้งกระทรวงพลังงาน ยังเตรียมหารือกับกระทรวงการคลัง เพื่อออกมาตรการภาษีจูงใจประชาชนในการติดตั้งโซลาร์รูฟท๊อป ช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าในครัวเรือน
ขณะที่มองทิศทางราคาพลังงานในระยะถัดไป มีความกังวลต่อราคาก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงฤดูหนาว โดยแนะภาคอุตสาหกรรม จำเป็นต้องช่วยกันประหยัด, รักษาต้นทุนให้อยู่ในระดับต่ำที่สุด, นำเทคโนโลยีที่ช่วยลดพลังงานเข้ามาใช้, ลดกำลังการผลิตลงให้เหลือระดับ 80% จาก 100%, ใช้เชื้อเพลิงอื่นทดแทน เพื่อลดต้นทุน และมองหาตลาดใหม่ๆ เช่น แอฟริกา เป็นต้น ซึ่งหากช่วยกันลดการใช้ก๊าซธรรมชาติลงได้ ก็จะส่งผลให้การนำเข้าก๊าซธรรมชาติลดลงด้วย
"การปรับตัว และความอยู่รอดของภาคอุตสาหกรรมไทย ต่อวิกฤตพลังงานโลกนั้น จำเป็นต้องยกระดับประสิทธิภาพการผลิตและนวัตกรรมด้วยการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งในภาคอุตสาหกรรม ต้องเปลี่ยนผ่านจากระบบเศรษฐกิจที่มุ่งเน้น การค้า การส่งออก การลงทุนแบบ offline เพียงอย่างเดียว ไปสู่รูปแบบธุรกิจใหม่ หรือ new business model ที่ผสมผสานรูปแบบ online เพิ่มมากขึ้น เน้นอุตสาหกรรมที่ใช้นวัตกรรมนำการผลิตเพื่อสร้างห่วงโซ่แห่งคุณค่า เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาด โดยมีการใช้นวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และมุ่งสู่ความเป็นเลิศในระดับภูมิภาคและระดับโลก" นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว