(เพิ่มเติม) ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคส.ค.ปรับขึ้นต่อเนื่องเดือนที่ 3 เริ่มเห็นสัญญาณศก.ฟื้น

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 13, 2022 12:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

(เพิ่มเติม) ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคส.ค.ปรับขึ้นต่อเนื่องเดือนที่ 3 เริ่มเห็นสัญญาณศก.ฟื้น

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือนส.ค.65 ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 43.7 จากระดับ 42.4 ในเดือนก.ค.65

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 37.8, ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำ อยู่ที่ 40.9 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 52.3

สำหรับปัจจัยบวกที่หนุนดัชนีปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่

  • ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ผ่อนคลายมาตรการในการเดินทางระหว่างประเทศ ยกเลิกระบบ Thailand Pass , ปรับระดับพื้นที่โควิดเป็นสีเขียวทั่วประเทศ และการผ่อนคลายเรื่องการสวมหน้ากากอนามัยให้เป็นตามความสมัครใจ
  • การฉีดวัคซีนป้องกันโควิดในทั่วโลกที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น
  • คณะรัฐมนตรี (ครม.)อนุมติมาตการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม เช่น คนละครึ่ง เฟส 5, โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้กับผู้ถือบัตรคนจน เป็นต้น
  • สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ รายงานเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/65 ขยายตัว 2.5% และทั้งปี 65 ยังเติบโตได้ 2.7-3.2%
  • การส่งออกเดือนก.ค. ขยายตัวได้ 4.33%
  • คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25%
  • ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวเพิ่มขึ้น
(เพิ่มเติม) ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคส.ค.ปรับขึ้นต่อเนื่องเดือนที่ 3 เริ่มเห็นสัญญาณศก.ฟื้น

ขณะที่ปัจจัยลบ ประกอบด้วย

  • ผู้บริโภคมีความรู้สึกว่าเศรษฐกิจยังฟื้นตัวช้า ค่าครองชีพและราคาสินค้าทรงตัวในระดับสูง ทำให้รายได้ไม่สอดคล้องกับค่าใช้จ่าย
  • ความกังวลต่อสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังเกิดขึ้นทั่วประเทศ
  • ความกังวลต่อภาวะสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลต่อราคาน้ำมันในตลาดโลกให้มีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อต้นทุนสินค้าให้ปรับเพิ่มขึ้นตาม และอาจมีผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งเศรษฐกิจไทย
  • ความกังวลต่อสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ซึ่งกระทบต่อเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในพื้นที่

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนส.ค.65 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 8 เดือน นับตั้งแต่ ก.พ.65 เนื่องจากในหลายปัจจัย เช่น ผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย หลังจากที่สถานการณ์โควิดในประเทศเริ่มปรับตัวดีขึ้นและมีการผ่อนคลายกฎระเบียบต่างๆ ให้ธุรกิจเริ่มเปิดดำเนินการได้เป็นปกติ ตลอดจนการผ่อนคลายให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศได้สะดวกมากขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวลดลงอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับการที่ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ตลอดจนปัญหาค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ตลอดจนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่อาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลกให้ช้าลงหรือชะลอตัวลง

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคเริ่มกลับมาเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัวขึ้น ซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องหรือไม่ เพราะผู้บริโภคยังมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์โควิดในประเทศไทย และปัญหาค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้บริโภคระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย

อย่างไรก็ตาม หากความเชื่อมั่นยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้นในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ โดยผู้บริโภคจะกลับมาบริโภคสินค้าและบริการโดดเด่นขึ้นในปลายไตรมาสที่ 3 ของปีนี้เป็นต้นไป

"ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนส.ค. เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และสูงสุดในรอบ 8 เดือนนับตั้งแต่ ก.พ.65 ซึ่งทำให้เห็นสัญญาณการฟื้นตัวและเข้าสู่ขาขึ้นของความเชื่อมั่นผู้บริโภค ตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีนี้เป็นต้นไป" นายธนวรรธน์ ระบุ
นายธนวรรธน์ ยังเห็นว่าในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ เห็นแนวโน้มที่ดีจากการขยายตัวของทั้งภาคการส่งออก การท่องเที่ยว และการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งจะช่วยทำให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 สามารถขยายตัวได้ที่ระดับ 3.5-4% โดยมองว่าทั้งการส่งออกและการท่องเที่ยวจะยังเป็นพระเอกและพระรองในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ซึ่งในส่วนของการท่องเที่ยวนั้น จากการเปิดประเทศการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ และการอนุญาตเปิดสถานบันเทิง เชื่อว่าจะทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยถึงเดือนละ 1.5-2 ล้านคน/เดือนในช่วงไตรมาส 4 นี้ ส่งผลให้ทั้งปี 65 ยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติ มีโอกาสขึ้นไปที่ระดับ 10-12 ล้านคน

ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมในขณะนี้ คาดว่าจะส่งผลต่อความเสียหายทางเศรษฐกิจราว 5,000-10,000 ล้านบาท แต่อย่างไรก็ดี ผลกระทบดังกล่าวเชื่อว่าจะสามารถชดเชยได้จากรายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเข้ามาไทยมากขึ้นในช่วงไตรมาส 4 นี้ ซึ่งหากมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยอย่างน้อย 1 ล้านคน/เดือน ก็จะทำรายได้ราว 50,000 ล้านบาท

นายธนวรรธน์ กล่าวด้วยว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้ ยังมี 5 ปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ 1. สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน 2.ปัญหาความขัดแย้งระหว่างจีน-สหรัฐ 3.สถานการณ์น้ำท่วม 4.การชุมนุมทางการเมืองในประเทศ 5.การระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่เมื่อพิจารณาในภาพรวมแล้ว ทั้ง 4-5 ปัจจัยดังกล่าว ยังไม่เห็นสัญญาณรุนแรงที่จะเกิดขึ้นจนส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ