นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC-CI) ประจำเดือนส.ค. 65 ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นของภาคธุรกิจและหอการค้าทั่วประเทศ จำนวน 369 ตัวอย่าง ในระหว่างวันที่ 24-31 ส.ค. 65 โดยดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 40.0 เพิ่มขึ้นจากระดับ 37.9 ในเดือนก.ค. 65
โดยดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในแต่ละภูมิภาค เป็นดังนี้
- กรุงเทพฯ และปริมณฑล ดัชนีฯ อยู่ที่ 39.0 เพิ่มขึ้นจากเดือนก.ค. ซึ่งอยู่ที่ 37.0
- ภาคกลาง ดัชนีฯ อยู่ที่ 41.1 เพิ่มขึ้นจากเดือนก.ค. ซึ่งอยู่ที่ 38.8
- ภาคตะวันออก ดัชนีฯ อยู่ที่ 43.5 เพิ่มขึ้นจากเดือนก.ค. ซึ่งอยู่ที่ 41.5
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดัชนีฯ อยู่ที่ 40.0 เพิ่มขึ้นจากเดือนก.ค. ซึ่งอยู่ที่ 37.7
- ภาคเหนือ ดัชนีฯ อยู่ที่ 39.7 เพิ่มขึ้นจากเดือนก.ค. ซึ่งอยู่ที่ 37.4
- ภาคใต้ ดัชนีฯ อยู่ที่ 38.0 เพิ่มขึ้นจากเดือนก.ค. ซึ่งอยู่ที่ 35.9
สำหรับปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกับดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย เดือน ส.ค. 65 มีดังนี้
- ปัจจัยบวก ได้แก่
1. ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้ผ่อนคลายมาตรการในการเดินทางระหว่างประเทศ และยกเลิกระบบ Thailand Pass สำหรับคนไทยและชาวต่างชาติ ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 65 เป็นต้นไป พร้อมทั้งปรับระดับพื้นที่สถานการณ์เป็นระดับเฝ้าระวัง (สีเขียว) ทั้งประเทศ
2. คณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และเป็นการแบ่งเบาภาระค่าครองชีพของประชาชน เช่น คนละครึ่งเฟส 5 และบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 5
3. การส่งออกของไทยเดือน ก.ค. 65 ขยายตัว 4.34% มูลค่าอยู่ที่ 23,629.29 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และการนำเข้าขยายตัว 23.86% มีมูลค่าอยู่ที่ 27,289.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุล 9,916.32 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
4. คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยขยับเพิ่มจาก 0.50% เป็น 0.75% ต่อปี
5. SET Index เดือน ส.ค. 65 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 62.52 จุด จาก 1,576.41 ณ สิ้นเดือนก.ค. 65 เป็น 1,638.93 ณ สิ้นเดือน ส.ค. 65
6. ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น หรือทรงตัวในระดับที่ดี โดยเฉพาะข้าว มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
- ปัจจัยลบ ได้แก่
1. ความกังวลของภาวะเศรษฐกิจยังฟื้นตัวช้า ตลอดจนปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง
2. ความกังวลต่อสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ ส่งผลกระทบในเชิงลบต่อเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวในพื้นที่
3. ความวิตกกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
4. สถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมถึงจีนกับไต้หวัน ที่อาจส่งผลให้ราคาน้ำมันโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น
5. ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าขึ้นเล็กน้อยจากเดือน ก.ค.
6. ราคาน้ำมันขายปลีกแก๊สโซฮอล์ ออกเทน 91 (E10) และแก๊สโซฮอล์ออกเทน 95 (E10) ในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 0.10 บาทต่อลิตร ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศยังคงทรงตัวจากเดือนที่ผ่านมา โดยอยู่ที่ระดับ 34.94 บาทต่อลิตร
ทั้งนี้ มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ และแนวทางการดำเนินการของภาคเอกชน ดังนี้
1. มาตรการป้องกัน และเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ อาทิ น้ำท่วมหรือน้ำป่าไหลหลากเข้าบ้านเรือนประชาชน
2. มาตรการดูแลต้นทุนการผลิต และการดำเนินธุรกิจไม่ให้ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ ซึ่งอาจส่งต่อยังประชาชนต่อไป
3. มาตรการสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนในประเทศและต่างประเทศ ให้มีการขยายธุรกิจ เพื่อช่วยส่งเสริมให้เกิดการกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
4. หาแนวทางการบริหารจัดการน้ำ ในสภาวะฝนตกหนักหรือภาวะน้ำท่วม
5. การดูแลและควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ทั้งจากไวรัสโควิด-19 และฝีดาษวานร (ฝีดาษลิง) ที่จะส่งผลเสียต่อการดำเนินกิจกรรมในชีวิตประจำวันของประชาชน
ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การปรับตัวของดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ตั้งแต่เดือนมิ.ย. - ก.ค. - ส.ค. ที่เห็นได้ชัดที่สุดมาจากการเปิดประเทศ ซึ่งทำให้สามารถเปิดดำเนินธุรกิจได้ครบถ้วน ตั้งแต่ธุรกิจกลางวันถึงธุรกิจกลางคืน ทำให้ supply chain ในธุรกิจกลางคืนมีเงินหมุนเวียนเติมเข้ามา 5 หมื่นล้านบาทต่อเดือน
พร้อมมองว่า พระเอกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปีนี้ ยังคงเป็นภาคการส่งออก โดยคาดว่าปีนี้การส่งออกของไทยยังขยายตัวได้ดีที่ 10% เฉลี่ยมูลค่าต่อเดือนที่ 2 หมื่นล้านดอลลาร์ ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นของหอการค้าทั่วประเทศปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากในการสำรวจหอการค้าจังหวัดทุกภาค ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่ากำลังการผลิตดีขึ้น ส่งผลให้ยอดคำสั่งซื้อทั้งในประเทศและต่างประเทศปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ภาคการท่องเที่ยว จะเป็นพระรองที่ช่วยหนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้