5 กระทรวงขานรับนโยบายรัฐใช้แพลตฟอร์มตลาดดิจิทัล เพิ่มรายได้เกษตรกร-ชุมชน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 13, 2022 15:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบผลการประชุมและมติคณะกรรมการติดตามการดำเนินการงานตามนโยบายรัฐบาล และข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี และเดินหน้าดำเนินการต่อตามข้อเสนอแนะในเรื่องการส่งเสริมการใช้แพลตฟอร์มการตลาดดิจิทัล เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ให้กลุ่มเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชน โดยมีการบูรณาการร่วมกันทำงานทั้ง 5 กระทรวง คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงพาณิชย์, กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงมหาดไทย

โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าเกษตรผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น เว็บไซต์ตลาดเกษตรกรออนไลน์.com เพื่อจำหน่ายสินค้าเกษตร 9 หมวดที่ได้รับการรับรองมาตรฐานต่าง ๆ โดยมีมูลค่าการจำหน่ายสะสม 444.29 ล้านบาท และผ่านช่องทาง Coopshopth.net และ Coop-mart.net ซึ่งในปี 2565 มีสินค้าและผลิตภัณฑ์ของสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร อยู่บนแพลตฟอร์มฯ แล้วกว่า 500 ราย

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังได้ปรับปรุงและส่งเสริมการใช้แพลตฟอร์มการตลาดดิจิทัล เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ให้กลุ่มเกษตรกรและวิสาหกิจชุมขน เช่น ส่งเสริมช่องทางการค้าออนไลน์ผ่าน http://agrimark.dit.go.th และ Thaitrade.com จัดกิจกรรมจับคู่เจรจาธุรกิจการค้าออนไลน์ "เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด" ที่มี 8 ประเทศเข้าร่วมเจรจา ได้แก่ ลาว เวียดนาม สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ จีน ญี่ปุ่น เมียนมา อินเดีย และไต้หวัน ทำให้เกิดการเจรจา 59 คู่ มีมูลค่าคาดการณ์ภายใน 1 ปีถึง 116.71 ล้านบาท

สำหรับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดย บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ได้พัฒนาระบบคำนวณโครงสร้างราคาอัตโนมัติเพื่อให้ร้านค้าสามารถกำหนดราคาจำหน่ายสินค้าได้ถูกต้อง และได้รับอนุมัติการนำสินค้ามาจำหน่ายได้รวดเร็วยิ่งขึ้น มีการจัดทำระบบการแจ้งเตือนร้านค้าผ่าน Line Notification เพื่อให้ร้านค้าได้รับแจ้งเตือนคำสั่งซื้อผ่านแอปพลิเคชันไลน์ รวมถึงแจ้งเตือนทางระบบร้านค้า ThailandPostMart โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม

ปัจจุบันมีผู้ขายสินค้า 6,696 ร้านค้า มีผลผลิตและผลิตภัณฑ์จากเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชน เช่น ข้าวสาร ผลไม้ตามฤดูกาล น้ำผึ้ง กาแฟ เครื่องดื่มสมุนไพร และอาหารแปรรูปจากผลผลิตทางการเกษตร

ขณะที่กระทรวงมหาดไทย ได้ร่วมดำเนินการส่งเสริมช่องทางการตลาดเครือข่ายเกษตรปลอดภัย เพื่อยกระดับกลุ่มผู้ผลิตสินค้าเกษตร 90 กลุ่มใน 9 จังหวัด และกลุ่มผู้ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ 80 กลุ่มใน 8 จังหวัด

ด้านกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้พัฒนาแพลตฟอร์มการตลาดดิจิทัล "ระบบเชื่อมโยงผลผลิตการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน (Farm to School)" เชื่อมโยงข้อมูลสินค้าเกษตรเพื่ออาหารกลางวันในโรงเรียน โดยแบ่งผู้ใช้งานเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ โรงเรียน เกษตรกรปลูกพืช และผู้จัดหาผลผลิต/วิสาหกิจชุมชน ทั้งนี้ ได้นำระบบ Farm to School ไปใช้งานนำร่องการใช้งานระบบดังกล่าว ณ โรงเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก วิสาหกิจชุมชน และเครือข่ายเกษตรกรแกนนำ อำเภอจอมพระ อำเภอลำดวน และอำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์

น.ส.ทิพานัน ยังกล่าวถึงความคืบหน้าในการสนับสนุนสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer) และส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกร ว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ยกระดับผลิตภัณฑ์ OTOP จำนวน 256 ผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการ 167 ราย ในพื้นที่ 36 จังหวัด บ่มเพาะวิสาหกิจในสถาบันอุดมศึกษาจนเกิดผู้ประกอบการระดับ Startup companies จำนวน 43 ราย ส่งเสริมการนำผลงานวิจัยไปใช้เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตและเศรษฐกิจชุมชน 25 เรื่อง และส่งเสริมการเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตรเกษตรกรรุ่นใหม่ เช่น ดำเนินโครงการพัฒนาทักษะกำลังคนของประเทศ (Reskill/Upskill/Newskill) เพื่อการมีงานทำและเตรียมความพร้อมรองรับการทำงานในอนาคต โดยมีสถาบันอุดมศึกษาได้รับการคัดเลือก 42 สถาบัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ