นางบุษกร ธีระปัญญาชัย ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายระบบการชำระเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ภายใต้แผนพัฒนาระบบการชำระเงินในระยะ 3 ปี (65-67) ธปท. จะมีการพัฒนาระบบการชำระเงินในภาคธุรกิจ หรือพร้อมบิส (PromptBiz) ซึ่งเป็นเสมือนการต่อยอดการให้บริการพร้อมเพย์จากภาคประชาชนมาสู่ภาคธุรกิจ ตอบโจทย์และแก้ปัญหา Pain point ให้แก่ภาคธุรกิจ เพื่อให้การทำธุรกรรมทางการเงินของภาคธุรกิจมีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยลดต้นทุน เพิ่มความสะดวกรวดเร็ว และช่วยลดข้อจำกัดต่างๆ ในระบบชำระเงินระหว่างธนาคารด้วย ขณะเดียวกันสามารถเชื่อมโยงระบบการค้า การชำระเงิน และการชำระภาษีเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งการพัฒนาพร้อมบิสนี้ คาดว่าจะเปิดให้บริการเฟสแรกในเดือนเมษายน 2566
"ถ้าเรามองว่าพร้อมเพย์ เป็น Game Changer ของการให้บริการชำระเงินแก่ภาคประชาชนแล้ว พร้อมบิส ที่เรากำลังพัฒนาอยู่นี้ ก็เชื่อว่าจะเป็น Game Changer ของการชำระเงินในภาคธุรกิจ...ระบบนี้จะสามารถ carry ข้อมูลอื่นๆ ได้นอกเหนือจากข้อมูลการชำระเงิน เช่น ข้อมูลการค้าต่างๆ การพัฒนาพร้อมบิสนี้ จะทำให้กระบวนการทางธุรกิจสามารถลดกระบวนการ manual ต่างๆ เช่น ลดการใช้เอกสารทางการค้า เอกสารการชำระเงิน เพิ่มประสิทธิภาพการทำธุรกรรมให้เร็วขึ้น ทำให้การทำธุรกรรมของภาคธุรกิจมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ช่วยลดต้นทุน เพิ่มความรวดเร็ว ลดความผิดพลาด ยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจ" นางบุษกร กล่าว
นอกจากนั้น ในแผนระยะ 3 ปีนี้ ธปท. จะขยายระบบบริการชำระเงินระหว่างประเทศแบบ Fast Payment เพิ่มเติม เช่น ในส่วนของการโอนเงินระหว่างประเทศ จะให้บริการเพิ่มเติมกับประเทศมาเลเซีย อินเดีย และอินโดนีเซีย จากปัจจุบันที่ได้ดำเนินการร่วมกับประเทศสิงคโปร์และได้รับผลตอบรับที่ดี ซึ่งช่วยลดความยุ่งยากในการโอนเงินระหว่างประเทศ ทำได้ง่ายผ่าน Mobile Banking จากแอปพลิเคชั่นที่ให้บริการระหว่างกัน มีค่าบริการที่ถูกลง และสามารถโอนเงินได้ทันทีไม่จำเป็นต้องใช้เวลานานแบบเดิม
รวมถึงการชำระเงินระหว่างประเทศผ่าน QR Code ในการชำระค่าสินค้า และบริการต่างๆ ผ่านร้านค้าที่ร่วมให้บริการ โดยสามารถทราบอัตราแลกเปลี่ยนในขณะนั้นได้ ทำให้สามารถตรวจสอบได้ เพิ่มความสะดวกสบายในการใช้จ่าย ซึ่งมีแผนที่จะขยายการดำเนินการเพิ่มเติมกับ 2 ประเทศ คือ ประเทศอินเดีย และฮ่องกง จากปัจจุบันที่ทำอยู่กับ 6 ประเทศ คือ สิงคโปร์ มาเลเซีย กัมพูชา เวียดนาม อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น
"บริการเหล่านี้ จะช่วยให้การโอนเงินข้ามประเทศทำได้ง่าย สะดวก และต้นทุนถูกลง สนับสนุนธุรกรรมในกลุ่มอาเซียน ซึ่งช่วย support การค้าในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วย อันเป็นเป้าหมายหลักของการตั้ง ASEAN Connectivity ขึ้น...ธุรกรรมดังกล่าวในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา อาจยังมีไม่มาก เนื่องจากเผชิญสถานการณ์โควิด มีการปิดประเทศ ทำให้การท่องเที่ยวชะลอตัว แต่เชื่อหลังจากเปิดประเทศแล้ว QR cross border payment จะกลับมา active รองรับนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มมากขึ้นในปีหน้า" นางบุษกร กล่าว
นางสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธปท. เปิดเผยว่า จากที่ ธปท. ได้ออกแนวนโยบาย "ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย เพื่อเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน" เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 65 ที่ผ่านมานั้น ล่าสุด ธปท. ได้จัดทำ "ทิศทางการพัฒนาระบบการชำระเงินภายใต้ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย" เพื่อกำหนดแผนกลยุทธ์การพัฒนาระบบชำระเงินในระยะ 3 ปี (65 - 67) ที่สอดรับกับแนวนโยบายภูมิทัศน์ใหม่ฯ ในภาพรวม โดยมีวัตถุประสงค์ให้ระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ทำหน้าที่เป็นกลไกสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านของภาคการเงินไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
การพัฒนาระบบการชำระเงินตามทิศทางดังกล่าว จะดำเนินการภายใต้ 3 หลักการ คือ 1.การเปิดกว้างให้เกิดการใช้ประโยชน์ร่วมกัน (Openness)2.การเข้าถึงและเข้าใจการใช้บริการชำระเงินดิจิทัล (Inclusivity) และ 3.การกำกับดูแลที่ยืดหยุ่นและเท่าทัน (Resiliency) ภายใต้เป้าหมายที่มุ่งให้การชำระเงินดิจิทัล เป็นทางเลือกหลักของผู้ใช้บริการทุกกลุ่ม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ส่งเสริมศักยภาพและการแข่งขัน และให้ไทยพร้อมก้าวสู่สังคมที่ใช้เงินสดน้อยลง ซึ่งแผนกลยุทธ์ที่สำคัญ มีดังนี้
1. การเปิดกว้างให้เกิดการใช้ประโยชน์ร่วมกัน (Openness) จะเน้นการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานและข้อมูลด้านการชำระเงินร่วมกันของภาคส่วนต่าง ๆ มากขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ส่งเสริมการแข่งขัน และการพัฒนานวัตกรรม รวมถึงการเพิ่มบทบาทด้านการชำระเงินของไทยในเวทีสากล โดยแผนงานสำคัญ ได้แก่
1) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อส่งข้อมูลทางการค้าและการชำระเงินดิจิทัลของภาคธุรกิจอย่างครบวงจร (ระบบ PromptBiz)
2) การยกระดับการนำมาตรฐานสากลและมาตรฐานกลางมาใช้ในระบบการชำระเงิน เช่น มาตรฐาน ISO20022 มาตรฐานการเชื่อมโยงระหว่างระบบและผู้ให้บริการ (Application Programming Interface: API) เป็นต้น
3) การมีโครงสร้างด้านธรรมาภิบาลของระบบการชำระเงินที่เหมาะสม เพื่อรองรับพัฒนาการด้านการชำระเงินที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
4) การพัฒนาฐานข้อมูลการชำระเงินภายใต้โครงการ Regulatory Data Transformation (RDT) และการบูรณาการข้อมูลชำระเงินร่วมกับภาครัฐเพื่อเพิ่มประโยชน์ในการใช้ข้อมูลในวงกว้าง
5) การมีหลักเกณฑ์ที่เอื้อให้เกิดการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านการชำระเงินที่สำคัญ
2. การเข้าถึงและเข้าใจการใช้บริการชำระเงินดิจิทัล (Inclusivity) โดยมีเป้าหมายให้ประชาชนทุกกลุ่ม เข้าถึงบริการชำระเงินดิจิทัลได้อย่างทั่วถึงในวงกว้าง เพื่อผลักดันให้การชำระเงินดิจิทัลเป็นทางเลือกหลักของคนไทย โดยจะดำเนินการร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ให้บริการชำระเงินที่สำคัญ ในการขยายการชำระเงินดิจิทัลให้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้บริการ อาทิ การชำระเงินดิจิทัลในการให้บริการระบบขนส่งสาธารณะ การต่อยอดบริการชำระเงินดิจิทัลกับแอปพลิเคชันภาครัฐที่ครอบคลุมการใช้งานในวงกว้าง รวมทั้งการเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจการใช้บริการชำระเงินดิจิทัลอย่างถูกต้องและปลอดภัยให้กับกลุ่มเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง
3. การกำกับดูแลที่ยืดหยุ่นและเท่าทัน (Resiliency) โดยมุ่งเน้นความมีประสิทธิผล และไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงเชิงระบบในวงกว้าง โดยมีแผนงานสำคัญ ได้แก่ 1) การทบทวนหรือปรับปรุงกรอบหลักเกณฑ์การกำกับดูแลตามแนวทาง Regulatory Impact Assessment (RIA) ให้ยืดหยุ่นและสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของระบบการชำระเงิน 2) การออกหลักเกณฑ์ด้านการชำระเงินเพื่อรองรับเทคโนโลยีและความเสี่ยงใหม่ เช่น การกำกับดูแลนวัตกรรมการชำระเงินต่าง ๆ 3) การปรับแนวทางและเครื่องมือการกำกับดูแลให้เท่าทันสภาพแวดล้อมและความเสี่ยงใหม่ ๆ เช่น การนำเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาเครื่องมือกำกับตรวจสอบ (supervisory technology) 4) การพัฒนาความร่วมมือกับหน่วยงานกำกับดูแล ผู้ให้บริการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างองค์ความรู้และร่วมกันแก้ปัญหาอย่างทันท่วงที และ 5) การพัฒนาศักยภาพบุคลากรเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง
นางสิริธิดา กล่าวว่า ภายใต้แผนกลยุทธ์นี้ ธปท. จะมุ่งเน้นการเสริมสร้างให้ระบบการชำระเงินไทยพร้อมรองรับการเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลของภาคการเงิน ภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน อย่างมีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และยั่งยืน รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาบริการชำระเงินดิจิทัลของผู้ให้บริการ เพื่อให้เกิดทางเลือกที่หลากหลายแก่ผู้ใช้บริการ บนพื้นฐานความรู้ความเข้าใจที่เพียงพอและการตระหนักถึงความเสี่ยง โดยดูแลให้เกิดการเรียนรู้ ปรับตัว และพร้อมใช้การชำระเงินดิจิทัล
อีกทั้งสนับสนุนให้การทำธุรกิจปรับเปลี่ยนเป็นแบบดิจิทัลอย่างครบวงจร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งจะช่วยยกระดับศักยภาพการดำเนินธุรกิจ และสนับสนุนความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และพร้อมก้าวสู่สังคมที่ใช้เงินสดน้อยลง
นางสิริธิดา กล่าวเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลเกี่ยวกับการใช้งานในระบบการชำระเงินแบบ Digital Payment ล่าสุด พบว่ามีประชาชนลงทะเบียนในระบบพร้อมเพย์แล้ว 69 ล้านเลขหมาย เพิ่มขึ้นในอัตราก้าวกระโดดจากช่วง 3 ปีที่ผ่านมาที่เริ่มมีการใช้บริการในระบบดังกล่าว โดยการทำธุรกรรมเฉลี่ยที่ 36 ล้านรายการ/วัน มูลค่าการทำธุรกรรมเฉลี่ยที่ 113,000 ล้านบาท/วัน โดย 90% ของมูลค่าการทำธุรกรรม จะไม่เกิน 1,000 บาท/รายการ ซึ่งทำให้เห็นว่าประชาชนมีการใช้ระบบพร้อมเพย์ในชีวิตประจำวันมากขึ้น ขณะที่มีจุดบริการรับชำระด้วย QR Code ถึงกว่า 7 ล้านจุดทั่วประเทศ ซึ่งการใช้จ่ายและการชำระเงินผ่านระบบ mobile banking/internet banking คิดเป็น 78% ของ Digital Payment ทั้งหมด