สศอ.เผยที่ประชุม APEC กลุ่มอุตฯเคมี พร้อมร่วมจัดทำมาตรฐานฉลาก GHS เคมีภัณฑ์

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday September 18, 2022 11:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สศอ.เผยที่ประชุม APEC กลุ่มอุตฯเคมี พร้อมร่วมจัดทำมาตรฐานฉลาก GHS เคมีภัณฑ์

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า การประชุม APEC Chemical Dialogue ครั้งที่ 29 ณ จังหวัดเชียงใหม่ กระทรวงอุตสาหกรรม โดย สศอ. ได้เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมร่วมกับสมาชิกจากเขตเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยที่ประชุมได้ให้ความสำคัญในการใช้ระบบการจำแนกความเป็นอันตรายแ ละการติดฉลากสารเคมีที่เป็นระบบเดียวกันทั่วโลก (The Globally Harmonized System of Classification and Labeling of Chemicals : GHS) และร่วมกันสร้างมาตรฐานบนฉลากสารเคมีให้ได้มาตรฐานเดียวกัน เพื่อร่วมกันอำนวยความสะดวกและเพิ่มประสิทธิภาพทางการค้าระหว่างประเทศ

โดยมีการเสนอการนำ OECD Mutual Acceptance of Data หรือระบบ MAD ซึ่งเป็นข้อตกลงในระบบการยอมรับข้อมูลร่วมกันมาเป็นเครื่องมือเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการภาครัฐของ OECD โดยเขตเศรษฐกิจเอเปค ได้นำมาประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์เพื่อลดอุปสรรคทางการค้า และส่งเสริมความเปิดกว้างสอดคล้องกับแนวคิด OPEN ในส่วนของการสร้างความเชื่อมโยง หรือ CONNECT ที่ประชุมได้มีการหารือแลกเปลี่ยนนโยบาย ประสบการณ์ และแนวปฏิบัติที่ดี รวมถึงแผนการปรับปรุงฐานข้อมูลกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเคมี ตลอดจนกิจกรรมความร่วมมือโครงการต่างๆ เพื่อให้ภาคส่วนต่างๆ ได้เชื่อมโยงกันอย่างราบรื่น

นายทองชัย กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมได้ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ในสาขาอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ เพื่อสร้างสมดุลการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโลก ตามแนวคิด BALANCE โดยไทยได้นำเสนอแนวปฏิบัติที่ดีผ่านการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ จากผลการดำเนินงานของคณะกรรมการ Responsible Care ดูแลด้วยความรับผิดชอบ (RCMCT) กลุ่มอุตสาหกรรมเคมี ตามนโยบาย BCG Economy เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของไทยไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

ทั้งนี้ จำเป็นต้องบูรณาการความร่วมมือ ทั้งจากภาครัฐและเอกชนในการผลักดันการปรับปรุง ทั้งในกระบวนการผลิต และการจัดการอย่างต่อเนื่องในการจัดการเคมีที่ปลอดภัย เพื่อความปลอดภัยให้กับสิ่งแวดล้อม สุขภาพ รวมถึงความปลอดภัยในการทำงาน การป้องกันมลพิษจากกระบวนการผลิตในหลายองค์กร

รวมทั้งการฝึกอบรมบุคลากรในอุตสาหกรรมเคมีผ่านกิจกรรมความร่วมมือกับอาเซียน ให้เกิดความพร้อมในการจัดการเคมีที่ถูกต้อง เพื่อนำไปสู่ความร่วมมือของเอเปค โดยนำเสนอตัวอย่างผลการดำเนินงานที่สำคัญ เช่น การจัดการขยะพลาสติกในเขตคลองเตย กรุงเทพฯ และจังหวัดระยอง ซึ่งผลการดำเนินการในการลดปริมาณขยะพลาสติก สามารถดำเนินการได้กว่า 50% โดยผ่านความร่วมมือขององค์กรภาครัฐและเอกชนหรือ PPP Plastics เพื่อดำเนินการสร้างระบบฐานข้อมูล การรวบรวม การแยก การจัดการ การนำกลับมาใช้ใหม่ รวมถึงการกำจัดขยะ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ