นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน กล่าวปาฐกถาหัวข้อ "ทิศทางอนาคตพลังงานไทย" ในงานสัมมนา New Energy แผนพลังงานชาติสู่ความยั่งยืนว่า ปัญหาพลังงานสะอาดกลายเป็นเรื่องจำเป็นที่ใกล้ตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งปัจจุบันไทยปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ราว 300 ล้านตัน/ปี จากการใช้พลังงานฟอสซิล จึงมีเป้าหมายที่จะมีความเป็นกลางทางคาร์บอนให้ได้ภายในปี 2593
สำหรับนโยบายในการผลิตไฟฟ้าจึงต้องคำนึงถึงปริมาณที่เพียงพอ ต้นทุนที่เหมาะสม และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากเราไม่สามารถเพิ่มปริมาณพลังงานสะอาด ก็จะสร้างภาระต่อการค้าต่างประเทศ
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า ขณะนี้ไทยมีความตื่นตัวที่จะใช้ยานยนต์ไฟฟ้าสูง โดยล่าสุดมีผู้จองซื้อรถราว 1.8 หมื่นคัน ขณะเดียวกันภาคเอกชนก็มีการลงทุนสร้างสถานีประจุไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น และการลงทุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในจำนวนเท่ากับยานยนต์ที่มีการนำเข้า
นอกจากนี้ ยังมีแผนประหยัดพลังงานให้ได้ 40% เช่น การปรับเปลี่ยนเครื่องใช้ไฟฟ้าใหม่ที่มีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการวิจัยที่จะนำไฮโดรเจนมาใช้เป็นเชื้อเพลิง ซึ่งประเทศไทยมีน้ำที่เป็นต้นทุนจำนวนมาก และมีการทดลองนำก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์ไปจัดเก็บไว้ในหลุมก๊าซใต้พิภพ ทำให้ไทยมีโอกาสเป็นกลางทางคาร์บอนได้เร็วกว่าเป้าที่ตั้งไว้ในปี 2593
พร้อมมองว่า การเปลี่ยนแปลงไปสู่พลังงานใหม่ จะก่อให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ เช่น การยืดอายุการใช้งานของแบตเตอรี่โดยไม่ต้องนำไปทิ้ง แต่หาทางใช้งานให้เกิดความคุ้มค่า
ส่วนราคาไฟฟ้านั้น รัฐบาลพยายามดำเนินการทุกทางที่จะให้มีต้นทุนที่ถูกลง แม้จะมีความคืบหน้าไม่มาก เช่น การให้โรงไฟฟ้าแม่เมาะของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ปรับมาใช้น้ำมันดีเซลทดแทนก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพื่อลดต้นทุน ขณะเดียวกันก็ต้องควบคุมดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม, การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวล เช่น กากอ้อย, การเจรจาซื้อก๊าซธรรมชาติจากแหล่ง JDA ทดแทนการนำเข้าจากแหล่งอื่น, การเจรจาเรื่องแหล่งก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ทับซ้อนกับกัมพูชา
"ตอนนี้ราคาก๊าซธรรมชาติปรับตัวขึ้นไปสูงมากจากภาวะสงคราม จาก 10 ดอลลาร์/ล้านบีทียู เป็น 40 ดอลลาร์/ล้านบีทียู หากราคาก๊าซธรรมชาติถูกลง รับรองว่าค่าไฟฟ้าจะถูกลงแน่นอน" นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว พร้อมยืนยันว่า รัฐบาลมีมาตรการที่จะเข้าไปดูแลกลุ่มผู้มีรายได้น้อยไม่ให้ได้รับผลกระทบ