นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบกรอบและงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจประจำปี 2566 วงเงินดำเนินการ 1,363,938 ล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน 276,274 ล้านบาท ประกอบด้วย
(1) กรอบการลงทุนสำหรับงานตามภารกิจปกติและโครงการต่อเนื่อง วงเงินดำเนินการ 1,163,938 ล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน 226,274 ล้านบาท
(2) กรอบการลงทุนสำหรับการเพิ่มเติมระหว่างปี วงเงินดำเนินการ 200,000 ล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน 50,000 ล้านบาท และให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปรับวงเงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจประจำปี 2566 ให้สอดคล้องกับผลการจัดสรรงบประมาณ ตาม พ.ร.บ. งบประมาณ ปี 2566 รวมถึงงบกลางหรืองบที่ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตามหลักเกณฑ์และวิธีการงบหรือได้รับความเห็นชอบจากสำนักงบประมาณแล้ว พร้อมมอบหมายให้สภาพัฒน์ฯ เป็นผู้พิจารณาอนุมัติการเปลี่ยนแปลงงบลงทุนระหว่างปีในส่วนงบลงทุน เพื่อการดำเนินงานปกติและโครงการต่อเนื่องที่การเปลี่ยนแปลงไม่มีผลกระทบต่อสาระสำคัญ
นอกจากนี้ ครม. ยังเห็นชอบข้อเสนอแนะเชิงนโยบายระดับกระทรวง และระดับ รัฐวิสาหกิจ โดยให้กระทรวงเจ้าสังกัดและรัฐวิสาหกิจรับข้อเสนอแนะ ในส่วนที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาดำเนินการ และให้รัฐวิสาหกิจ (จำนวน 44 แห่ง ภายใต้สังกัด 15 กระทรวง) รายงานผลความก้าวหน้าของการดำเนินงานและการลงทุนปี 66 ให้ สศช. ทราบภายในวันที่ 5 ของเดือน
รวมทั้งรายงานผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะ และความก้าวหน้าการดำเนินโครงการลงทุนทุกไตรมาส พร้อมกับรับทราบประมาณการงบทำการประจำปี 2566 ที่กำไรสุทธิ ประมาณ 67,692 ล้านบาท โดยมีรายได้ 1,715,119 ล้านบาท และประมาณการแนวโน้มการดำเนินงานช่วงปี 67-69 ของรัฐวิสาหกิจในเบื้องต้น การลงทุนเฉลี่ยประมาณปีละ 383,970 ล้านบาท และผลประกอบการจะมีกำไรสุทธิเฉลี่ยประมาณปีละ 80,487 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย 8 ด้าน ให้รัฐวิสาหกิจดำเนินการ ดังนี้
1. การเบิกจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจ โดยให้รัฐวิสาหกิจเร่งรัดการเบิกจ่ายลงทุนให้ได้ไม่น้อยกว่า 95% ของกรอบวงเงินที่ได้รับอนุมัติเบิกจ่ายลงทุน
2. การปรับปรุงงบลงทุนระหว่างปี โดยเฉพาะการลดกรอบวงเงินลงทุน ควรเป็นผลกระทบที่เกิดจากปัจจัยภายนอกหรือปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ หรือเป็นการดำเนินการตามนโยบายเท่านั้น
3. การทบทวนสถานะการเป็นรัฐวิสาหกิจ ให้กระทรวงการคลัง เร่งพิจารณาความจำเป็นของการคงสถานะองค์กรเป็นรัฐวิสาหกิจในภาวะการปัจจุบันหรืออาจปรับเปลี่ยนรูปแบบองค์กรเป็นหน่วยงานภาครัฐอื่นที่สามารถดำเนินงานได้ตามวัตถุประสงค์รวมทั้งการปรับบทบาทการดำเนินงานภารกิจให้สอดรับกับบริบทปัจจุบันให้มากขึ้น
4. แนวทางการลงทุนในระยะต่อไป ให้พิจารณาเสนอขออนุมัติงบลงทุนที่สอดคล้องกับกรอบการพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนา ฯ ฉบับที่ 13 และแผนพัฒนารัฐวิสาหกิจด้วย
5. การจัดตั้งและกำกับดูแลบริษัทลูกหรือบริษัทในเครือ ซึ่งการพิจารณาการจัดตั้งบริษัทลูกหรือบริษัทในเครือ ควรพิจารณารายละเอียดข้อจำกัดของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการอย่างรอบคอบ
6. การปรับกระบวนการภาครัฐ ที่มีผลต่อการดำเนินงาน และการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ เร่งรัดพิจารณาหรือดำเนินการในส่วนที่มีผลกระทบต่อการดำเนินงานและการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ เช่น การตอบข้อวินิจฉัยหรือข้อหารือด้านกฎหมายให้มีความชัดเจนโดยเร็ว
7. การพัฒนาบุคลากรของรัฐวิสาหกิจให้รัฐวิสาหกิจให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรบุคคล เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและรองรับการเปลี่ยนแปลงองค์กรพิจารณาเพิ่มสัดส่วนพนักงานที่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่
8. การบริหารจัดการปัจจัยเสี่ยงภายใต้ความผันผวนทางเศรษฐกิจโดยให้ติดตามสถานการณ์ความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลก เพื่อจัดทำแผนบริหารความเสี่ยงในการดำเนินงานและการลงทุนรองรับได้ทันต่อสถานการณ์
นอกจากนี้ ยังได้ให้กระทรวงและรัฐวิสาหกิจ เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน การให้บริการ การลดต้นทุน การผลิตและการบริหารจัดการที่เหมาะสม ของแต่ละรัฐวิสาหกิจด้วย