โดย ส.อ.ท. ได้ยื่นแพลตฟอร์ม FTIX นี้เข้าร่วมในโครงการ ERC Sandbox 2 ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เพื่อทดสอบระบบของตลาดการซื้อขายแลกเปลี่ยนให้มีความโปร่งใสและเชื่อถือได้ โดยที่อุตสาหกรรมทุกขนาดทั้งขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ จะสามารถเข้าถึงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งถือเป็นโอกาสดีจะได้ทำการเปิดตัวแพลตฟอร์ม FTIX พร้อมกับศูนย์ซื้อขายคาร์บอนเครดิต
ทั้งนี้ คาร์บอนเครดิตเป็นกลไกการตลาดที่สำคัญอย่างหนึ่งในการสร้างแรงจูงใจ และเป็นทางเลือกให้ผู้ประกอบการในการลดก๊าซเรือนกระจก ส.อ.ท. ได้ดำเนินงานร่วมกับ อบก. จากความร่วมมือที่มีมาอย่างต่อเนื่องในการดำเนินงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส.อ.ท. และ อบก. จึงมีความเห็นร่วมกันในการพัฒนาแพลตฟอร์มการซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต เพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการซื้อขายคาร์บอนเครดิต เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ สามารถดำเนินกิจกรรมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสนับสนุนตลาดคาร์บอนภายในประเทศ
ด้านนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "ภาครัฐประสานภาคเอกชน ขับเคลื่อนไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน" ว่า ประเด็นผลกระทบที่ทั่วโลกต้องเผชิญภัยพิบัติทางธรรมชาติรุนแรง เช่น น้ำท่วม น้ำแล้ง ดินโคลนถล่ม น้ำท่วมใหญ่ในเกาหลีใต้ และปากีสถาน โดยที่ประเทศไทย ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นลำดับที่ 21 ของโลก หรือประมาณ 0.8% ของโลก แต่กลับเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรุนแรงที่สุด
"หลังจากนี้ไป เชื่อว่าปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งอย่างรุนแรง จะเกิดขึ้นสลับกันไป หากปัญหาสภาวะโลกร้อนยังไม่ได้รับการแก้ไข" นายวราวุธ กล่าว
นายวราวุธ กล่าวถึงแนวทางและมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญ ได้แก่ การเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน (RE) , การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การส่งเสริมการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) , มาตรการทดแทนปูนเม็ด (ปูนไฮดรอลิก) และการปรับเปลี่ยนสารทำความเย็น, การปรับปรุงการทำนาข้าวเพื่อลดการปล่อยมีเทน, การจัดการขยะและน้ำเสียชุมชน รวมถึงน้ำเสียอุตสาหกรรม การผลิตพลังงานจากขยะ (Waste to Energy-WTE) , การป้องกันการบุกรุกและทำลายป่า ด้วยการขับเคลื่อนการดำเนินงาน 6 ด้าน ได้แก่ (1) ด้านนโยบาย (2) ด้านเทคโนโลยี (3) ด้านการเงินและการลงทุน (4) ด้านกลไกตลาดคาร์บอนเครดิต, (5) ด้านการเพิ่มแหล่งกักเก็บ/ดูดกลับก๊าซเรือนกระจก และ (6) ด้านกฎหมาย
ทั้งนี้ ศูนย์ซื้อขายคาร์บอนเครดิตของประเทศไทย ที่ดำเนินการโดย ส.อ.ท. มีบทบาทสำคัญ ในฐานะที่เป็นระบบฐานข้อมูลการซื้อขายคาร์บอนเครดิตของประเทศ สามารถติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ของประเทศที่ภาครัฐสามารถนำมาเชื่อมโยงกับเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศได้ ตลอดจนมีการลงทุนในเทคโนโลยีที่สามารถลด GHG ดังนั้นแพลตฟอร์มการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต จึงถือเป็นส่วนสำคัญในการสร้างระบบนิเวศสำหรับการใช้กลไกราคาคาร์บอนเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการแลกเปลี่ยนคุณค่าของคาร์บอนเครดิตซึ่งกันและกัน สร้างความโปร่งใส ยุติธรรม และน่าเชื่อถือในระดับสากลของตลาดคาร์บอน รวมทั้งสามารถสร้างความเชื่อมั่นในศักยภาพของคนไทย "Together Possible" ทุกอย่างเป็นจริงได้เสมอ
"แพลตฟอร์ม FTIX จะเป็นกระดานแรกของโลก ซึ่งตอกย้ำให้นานาอารยประเทศเห็นถึงความตั้งใจที่จะต่อสู้กับปัญหา Climate Change ซึ่งเราจะเป็นต้นแบบให้กับประเทศอื่น เบื้องต้นประเมินว่าจะมีมูลค่าที่จะเทรดกว่า 3 แสนล้านบาท" นายวราวุธ กล่าว
รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ กล่าวว่า หลังจากนี้ได้ประสานไปยังสำนักงานเลขาธิการอาเซียน ที่จะผลักดันให้ประเทศสมาชิกเข้ามาร่วมในแพลตฟอร์ม FTIX ซึ่งจะเป็นการต่อยอดและยกระดับการใช้งาน เพราะไม่ต้องไปเสียเวลาเริ่มดำเนินการใหม่ แต่สามารถเข้ามาใช้งานได้ทันทีเลย เพราะแพลตฟอร์มนี้เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้ ภาคธุรกิจกำลังจะก้าวจากยุคแบล็คโกลด์ไปสู่ยุคกรีนโกลด์
รมว.ทรัพยากรฯ กล่าวว่า ในเดือน พ.ย.65 ตนจะนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมโลกร้อน COP ครั้งที่ 27 เพื่อชี้ให้เห็นถึงความสำเร็จในการผลักดันแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม
"ประเทศไทยน่าจะเป็นประเทศแรกในโลก ที่ดำเนินการผลักดันเพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อน ซึ่งเชื่อมั่นในศักยภาพของคนไทยว่าทำได้" นายวราวุธ กล่าว