อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ธปท.ยืนยันว่าได้ติดตามสถานการณ์ค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด ดังนั้นกระทรวงการคลังคงจะไปกำหนดมาตรการอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้มากไม่ได้ แต่ยอมรับว่ามีความเป็นห่วงว่าเงินบาทจะอ่อนค่าเร็วเกินไปหรือไม่ ดังนั้น จึงต้องมาวิเคราะห์ร่วมกันว่าหากเป็นเช่นนั้นจะส่งผลกระทบกับอะไรบ้าง เพื่อไม่ให้กระทบกับภาพรวมเศรษฐกิจ ส่วนสถานการณ์เงินทุนเคลื่อนย้าย ขณะนี้ยังไม่พบว่ามีความผิดปกติ
"คงต้องมาคุยกัน ว่าเงินบาทอ่อนค่าเกินปัจจัยพื้นฐานไหม ซึ่งตรงนี้คงตอบไม่ได้ ส่วนที่ถามว่าเงินบาทอ่อนค่าเร็วไปไหมนั้น จะพูดว่าเงินบาทของเราอ่อนค่าด้วยตัวเอง หรืออ่อนค่าจากปัจจัยภายนอก ก็ต้องมาพิจารณาดู เพราะเวลาเงินบาทอ่อนค่าเร็ว ก็ต้องดูด้วยว่าเงินสกุลอื่นแข็งค่าเร็วหรือเปล่า ถ้าดอลล่าร์แข็งค่าขึ้นเร็ว เงินบาทก็ต้องอ่อนค่าเร็วตามไปด้วยอยู่แล้ว เรื่องนี้ต้องดูหลาย ๆ ปัจจัย เรื่องเงินบาทคงต้องไปถามทาง ธปท." นายอาคม กล่าว
รมว.คลัง กล่าวว่า สถานการณ์ตอนนี้เป็นที่ทราบกันดีว่า ราคาพลังงาน และความเป็นห่วงเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของประเทศมหาอำนาจ เป็นปัจจัยกดดันสำคัญ และเป็นที่จับตามองจากทั้งวงการการเงินและตลาดทุน ซึ่งจะต้องเตรียมการรองรับเอาไว้ เพราะไทยก็อาจจะได้รับผลกระทบอยู่บ้าง ดังนั้นก็ต้องปรับตัวกันไป
พร้อมระบุว่า หากย้อนดูสถิติที่ผ่านมา จะมีช่วงที่เงินบาทอ่อนค่ามากที่สุดแล้วจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นตามสถานการณ์เศรษฐกิจ โดยเฉพาะเมื่อธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปจนถึงระดับสูงที่สุดแล้วจนทุกอย่างอยู่นิ่ง เมื่อถึงเวลานั้น ค่าเงินบาทก็จะมีการปรับตัวตามพื้นฐานใหม่ ยืนยันว่าเรื่องค่าเงินนั้น มีขึ้นก็ต้องมีลง
รมว.คลัง ยอมรับว่า เงินบาทที่อ่อนค่าลง ส่งผลกระทบกับเรื่องวัตถุดิบ มีผลให้ราคาต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ทางรัฐบาลได้พยายามออกมาตรการดูแลอยู่ตลอด โดยเฉพาะการดูแลราคาขายปลีก และมาตรการต่าง ๆ ที่จะเข้ามาช่วยพยุงในเรื่องของต้นทุน ซึ่งยืนยันว่ารัฐบาลทำทุกอย่างเท่าที่มีเครื่องมือ