น.ส.จรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA) กล่าวเสวนาในหัวข้อ "พลิกโฉมประเทศไทย ก้าวไปด้วยกัน" ถึงการพัฒนาขีดความสามารถของประเทศว่า ต้องพิจารณาใน 2 ส่วน คือ 1.ขีดความสามารถของประเทศที่มีอยู่ ซึ่งถือเป็นบุญเก่า และ 2.ขีดความสามารถที่กำลังจะสร้างขึ้นมาใหม่ ซึ่งจากประสบการณ์ในการทำธุรกิจโลจิสติกส์พบว่า ต้นทุนของไทยอยู่ที่ 13.4% ขณะที่ต้นทุนเฉลี่ยของโลกอยู่ที่ 10.4% แต่ในอนาคตต้นทุนของไทยอาจลดลงเหลือ 11.0% หากมีการลงทุนสร้างแลนด์บริดจ์เชื่อมทะเลฝั่งอันดามันกับอ่าวไทยที่ช่วยลดเวลาขนส่งสินค้าอ้อมแหลมมลายูไปได้ 4 วัน หรือการลงทุนโครงการไฮสปีดเทรน ซึ่งอยากให้ต้นทุนต่ำลงไปกว่า 10%
ปัญหาเรื่องภูมิรัฐศาสตร์เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตามปกติ แต่ความรุนแรงในขณะนี้ จะทำให้นักลงทุนต่างชาติตัดสินใจย้ายการลงทุนมายังภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ เวียดนาม อินโดนีเซีย และไทย และแนวคิดที่ว่าภูมิภาคที่มีประชากรมากจะเป็นภาระ จะเปลี่ยนไปเป็นภูมิภาคที่มีกำลังซื้อมหาศาล
การดำเนินโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดในอดีตมีความล้ำหน้าไปกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค แต่ไม่ได้มีการพัฒนาต่อเนื่อง ทำให้ประเทศไทยติดกับดักตัวเอง จนกระทั่งมีโครงการอีอีซีที่จะสร้างโอกาสที่ดีในการลงทุนอีกครั้ง ซึ่งภาครัฐต้องทำงานเชิงรุก โดยตั้งทีมออกไปเจรจากับนักลงทุนต่างชาติถึงเงื่อนไขที่ต้องการให้รัฐบาลสนับสนุน
"การที่ BYD ซึ่งเป็นผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าอันดับ 1 ของโลกตัดสินใจเข้ามาลงทุนในไทย ซึ่งเป็นการลงทุนนอกประเทศจีน ย่อมมีความมั่นใจในศักยภาพของไทย" น.ส.จรีพร กล่าว
นายเรืองโรจน์ พูนผล ประธานกลุ่มบริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป กล่าวว่า ทุนมนุษย์เป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนา และการเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องอยู่ในระบบการศึกษา ขณะนี้ระบบเทคโนโลยีเอื้ออำนวยให้เกิดการเรียนรู้ได้ตลอดเวลาไม่จบสิ้น เพื่อทดแทนองค์ความรู้เดิม 30-40% ที่จะค่อยๆ ล้าสมัยไป การศึกษาจะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ในทุกมิติ และรัฐบาลควรกำหนดให้การส่งเสริมการเรียนรู้เป็นวาระแห่งชาติ
นายอรุษ นวราช กรรมการผู้จัดการสวนสามพราน กล่าวว่า ภาคเกษตรถือเป็นจุดแข็งของประเทศไทย ซึ่งในอนาคตควรมุ่งสร้างพันธมิตรในพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อช่วยเหลือกัน เพราะที่ผ่านมา ผู้ประกอบการซื้อผลผลิตผ่านพ่อค้าคนกลาง ทำให้ราคาแพง ขณะที่เกษตรกรผู้ผลิตถูกกดราคา ไม่สามารถตั้งราคาเองได้ หลังจากตลาดมีความต้องการสินค้าเกษตรอินทรีย์มากขึ้น การสร้างเครือข่ายจะทำให้เกิดความเชื่อมั่นเรื่องกระบวนการผลิตที่ปลอดสารพิษ และค่าขนส่งที่ถูกลง
หลังวิกฤตโควิด-19 พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ความต้องการบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์มีมากขึ้น เพราะคงไม่มีใครต้องการฉีดวัคซีนไปตลอดชีวิต ซึ่งเกษตรกรต้องปรับเปลี่ยนมุมมองไปนอกกรอบเดิมๆ เช่น การปลูกผักชนิดอื่นจากเดิมที่มีไม่กี่ชนิด แต่ต้องสร้างความเชื่อมั่นระยะยาวในเรื่องคุณภาพ
นายนที สิทธิประศาสน์ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และกรรมการและเลขานุการสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กล่าวว่า ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเริ่มชัดเจนขึ้นหลังมีแรงกดดันในต่างประเทศ ซึ่งในประเทศไทยได้มีการเปิดแพลตฟอร์มในการซื้อขายคาร์บอนเครดิตแล้ว สถานการณ์นับจากนี้ไป ผู้ประกอบการคงจะทำตัวไม่รู้ร้อนไม่รู้หนาวไม่ได้ และต้องยอมรับว่ามีผู้ประกอบการที่ไม่มีความรับผิดชอบ ดังนั้นควรใช้มาตรการภาคบังคับในเรื่องก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้การดำเนินเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ นอกจากนี้ ยังต้องมีการพลิกโฉมเรื่องพลังงาน โดยเปิดเสรีให้ภาคเอกชนสามารถซื้อขายไฟฟ้ากันได้โดยตรง
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สศช. กล่าวว่า การปฏิรูปภาครัฐให้ทันสมัย เป็นหมุดหมายในการดำเนินงานที่ยากที่สุด ซึ่งที่ผ่านมาพยายามดำเนินการไปบ้างแล้ว เช่น การจัดตั้งศูนย์ให้บริการแบบวัน One Stop Service โดยเฉพาะในระบบราชการที่อนุญาตให้ใช้เรื่องดุลยพินิจ ซึ่งจะต้องให้มีน้อยที่สุด
สำหรับแผนฯ 13 ที่จะประกาศใช้ในวันที่ 1 ต.ค.65 มีความเชื่อมโยงกับแผนพัฒนาระดับท้องถิ่น รวมถึงการจัดสรรงบประมาณด้วย โดยในการพิจารณาจัดทำแผนได้มีตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนขึ้นมาดูแลถึง 5 ชุด อย่างไรก็ตาม แผนฯ 13 มีความยืดหยุ่นที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ เช่น กรณีเกิดวิกฤตโควิด-19 กรณัความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน