กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เผยมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 37.50-38.00 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 37.46 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในกรอบ 36.82-37.46 บาท/ดอลลาร์ โดยเงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 16 ปี ขณะที่สกุลเงินภูมิภาคทำสถิติต่ำสุดในรอบหลายปีเช่นกันหลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยอย่างแข็งกร้าวต่อไป เงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงินสำคัญในสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่เฟดมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ปรับขึ้นดอกเบี้ย 75bp เป็นครั้งที่สามติดต่อกันส่งผลให้กรอบเป้าหมายดอกเบี้ยนโยบายขึ้นมาอยู่ที่ 3.00-3.25% ซึ่งเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2551 โดย dot plot ฉบับใหม่บ่งชี้ว่าดอกเบี้ยมีแนวโน้มพุ่งขึ้นสู่ 4.50-4.75% ในปี 2566 ก่อนจะลดลงสู่ 3.75-4.00% ในปี 2567 ขณะที่ประธานเฟดระบุถึงความมุ่งมั่นในการทำให้เงินเฟ้อชะลอถึงแม้จะส่งผลให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะชะงักงันก็ตาม โดยเฟดคาดว่าจีดีพีสหรัฐฯ อาจขยายตัวเพียง 0.2% ในปีนี้ และ 1.2% ในปีหน้า ซึ่งต่ำกว่าอัตราการเติบโตศักยภาพ ส่วนอัตราการว่างงานอยู่ในทิศทางขาขึ้น ทางด้านเงินเยนพุ่งขึ้นเมื่อเทียบกับเงินหลายสกุลโดยญี่ปุ่นเข้าแทรกแซงในตลาดปริวรรตเงินตราเพื่อหนุนค่าเงินเยนเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2541 หลังธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ประกาศคงดอกเบี้ยที่ระดับต่ำเป็นพิเศษสวนกระแสโลกต่อไป ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นและพันธบัตรไทยสุทธิ 1,563 ล้านบาท และ 7,930 ล้านบาท ตามลำดับ
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ฯ มองว่า ตลาดจะให้ความสนใจกับความเห็นเจ้าหน้าที่เฟด ข้อมูลการใช้จ่ายบริโภคส่วนบุคคลเดือนสิงหาคมของสหรัฐฯ วิกฤตค่าเงินปอนด์ซึ่งแตะจุดต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) เพิ่งปรับขึ้นดอกเบี้ย 50bp สู่ 2.25% และอาจต้องประชุมนอกรอบในเร็วๆ นี้ หลังรัฐบาลอังกฤษประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างความหวั่นวิตกเกี่ยวกับสถานะทางการคลัง อนึ่ง เมื่อพิจารณาสถานการณ์ความตึงเครียดทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ร่วมด้วย เรามองว่าเงินดอลลาร์จะได้แรงหนุนต่อไปท่ามกลางภาวะตลาดการเงินตึงตัวและความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลก
สำหรับปัจจัยในประเทศ คาดว่าผลสรุปการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 28 กันยายน 2565 จะมีมติไม่เป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นดอกเบี้ย 25bp สู่ระดับ 1.00% โดยกรรมการเสียงส่วนน้อยอาจสนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ย 50bp นอกจากนี้ประเด็นการเมืองในประเทศเป็นที่น่าติดตามเช่นกัน อย่างไรก็ดี ในภาพใหญ่คาดว่าเงินบาทและสินทรัพย์ตลาดเกิดใหม่จะเผชิญแรงกดดันอย่างต่อเนื่องจากภาวะหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในระยะนี้