นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า หนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยที่สะสมมานาน และถูกซ้ำเติมให้รุนแรงขึ้นในช่วงโควิด-19 เห็นได้จากปี 53 หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 60% ต่อจีดีพี ผ่านไป 10 ปี หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นเป็น 80% ต่อจีดีพีในปี 62 และเพิ่มขึ้นเป็น 90% ในไตรมาส 1/64 จากโควิด-19 ขณะที่ล่าสุดในไตรมาส 2/65 หนี้ครัวเรือนลดลงมาอยู่ที่ 88%
แม้เศรษฐกิจไทยจะปรับตัวดีขึ้นและคาดว่าจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง แต่การฟื้นตัวในแต่ละภาคส่วนยังไม่เท่าเทียม (K-shaped)โดยเฉพาะผู้ประกอบอาชีพอิสระหรือกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ยังเจอกับภาวะค่าครองชีพสูง ซึ่งอาจยิ่งซ้ำเติมลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง และทำให้ปัญหาหนี้ครัวเรือนรุนแรงขึ้น จนอาจกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป ดังนั้นเพื่อให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ไม่สะดุด (smooth takeoff) การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนจึงต้องมี 3 องค์ประกอบหลัก คือ
1. ทำอย่างครบวงจร สอดคล้องกับลักษณะและสาเหตุของปัญหาในแต่ละช่วงของการเป็นหนี้
2. ทำอย่างถูกหลักการ โดยพิจารณาแนวทางที่เหมาะสม รู้ว่าอะไรควรทำ และไม่ควรทำ หลัก ๆ คือ ต้องแก้หนี้ให้ตรงจุด สอดคล้องกับปัญหาของลูกหนี้ ไม่ทำแบบวงกว้างเพราะภาคการเงินจะมีทรัพยากรเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ต้องการจริง ๆ ได้น้อยลง,ไม่สร้างภาระเพิ่มให้กับลูกหนี้ในอนาคต เช่น พักชำระหนี้ไปเรื่อย ๆ จนลูกหนี้มีภาระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น, ไม่ลดโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อ เช่น ลบหรือแก้ประวัติสินเชื่อของลูกหนี้ จนสถาบันการเงินไม่รู้จักลูกหนี้และไม่กล้าปล่อยสินเชื่อ และเจ้าหนี้และลูกหนี้ต้องร่วมมือและตั้งใจจริงในการแก้ไขหนี้
3. บูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาคการเงินในฐานะเจ้าหนี้ ภาครัฐ มีบทบาทในการสร้างรายได้และเตรียมโครงสร้างพื้นฐาน ภาคเอกชน ยกระดับบทบาทนายจ้างในการดูแลปัญหาหนี้ของลูกจ้าง และลูกหนี้ต้องเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงิน ก่อหนี้โดยคำนึงถึงศักยภาพของตนเอง และมีวินัยในการชำระหนี้
อย่างไรก็ดี ในระยะต่อไป ธปท. จะออกแนวนโยบายการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนเชิงโครงสร้างอย่างยั่งยืน (directional paper) ภายในปี 65 เพื่อสื่อสารทิศทาง การดำเนินงานที่ ธปท. จะผลักดันในอนาคต และแนวทางการทำงานร่วมกับภาคส่วนอื่น ๆ เพื่อช่วยขับเคลื่อนการแก้ปัญหาให้ได้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว เช่น ออกหลักเกณฑ์ responsible lending ที่ชัดเจนขึ้น ซึ่งครอบคลุมทั้งการปล่อยหนี้ใหม่ที่มีคุณภาพ และการให้ข้อมูลที่ลูกหนี้ควรรู้ เพื่อปรับพฤติกรรมให้เกิดวินัยทางการเงินและลดการก่อหนี้เกินตัว
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า รัฐบาลตั้งเป้าหมายให้ปีนี้เป็นปีแห่งการแก้ไขหนี้ภาคประชาชน แม้ว่าปัจจุบันสถานการณ์เศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น แต่ปัญหาหนี้ โดยเฉพาะหนี้รายย่อยยังมีอยู่ กระทรวงคลัง จึงได้หารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ทุกฝ่ายเป็นห่วง
"งานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ในครั้งหนี้ ได้รับความร่วมมือจากสถาบันการเงินกว่า 60 แห่ง รวมถึงสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ที่จะมีมาตรการพิเศษออกมาเพื่อให้ลูกหนี้สมัครใจเข้าร่วมโครงการ โดย ธปท. และคลังจะมีการสัญจรไปจัดมหกรรมดังกล่าวยังภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ ระหว่างเดือน พ.ย. 65 -ม.ค. 66 เพื่อให้คำปรึกษากับประชาชน ซึ่งการแก้ไขหนี้จะไม่จำกัดอยู่ที่หนี้ที่อยู่ระหว่างการชำระเท่านั้น แต่จะรวมถึงหนี้เสียด้วย รวมทั้งจะมีการสนับสนุนการเริ่มต้นอาชีพ เติมเงิน เติมทุน เติมสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่อง และมีการให้คำปรึกษาทางการเงินอีกด้วย" นายอาคม กล่าว
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน กล่าวว่า สถานการณ์โดยรวมของเศรษฐกิจไทยในปีนี้มีทิศทางที่ดีขึ้นและสามารถเติบโตต่อไปได้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจ และรายได้ของประชาชนก็จะฟื้นขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับคือค่าครองชีพที่สูงขึ้น เป็นผลจากราคาพลังงานและราคาสินค้า ประกอบกับปัญหาหนี้สินที่เป็นผลกระทบสืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ในช่วงที่ผ่านมายังทำได้ไม่ดี
ทั้งนี้ งานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ : มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน จึงเป็นโอกาสที่ดีในการแก้ปัญหาหนี้ของประชาชนให้ลดลงไปอยู่ในระดับที่พอจะดูแลตัวเองได้ มีความสามารถในการชำระเงินต้นและดอกเบี้ย โดยที่สถาบันการเงินพร้อมพิจารณาผ่อนปรนตามความสามารถของลูกหนี้แต่ละราย