รัฐบาล หนุนส่งเสริมการจ้างงานกลุ่มเปราะบาง สร้างรายได้กว่า 1,661 ลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 27, 2022 10:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม โดยเน้นสร้างโอกาสแก่ประชาชนที่เป็นกลุ่มเปราะบาง คนพิการ ผู้มีรายได้น้อย เพื่อให้มีหลักประกันทางสังคม ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนกลุ่มดังกล่าวให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถพึ่งพาตนเองได้ ลดความเหลื่อมล้ำ และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

กระทรวงแรงงาน ได้ขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง จากรายงานภาพรวมการดำเนินงานส่งเสริมการจ้างงานคนพิการและรับสิทธิสัมปทานพื้นที่ทำกินในปีงบประมาณ 2565 (ต.ค. 64-ส.ค. 65) มีคนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการได้รับสิทธิตามมาตรา 35 จำนวน 14,546 ราย แบ่งเป็น คนพิการรับสิทธิ 10,531 คน ผู้ดูแลรับสิทธิแทน 4,015 คน จากนายจ้างภาครัฐ และเอกชน 1,956 แห่ง สร้างรายได้ให้แก่คนพิการกว่า 1,661 ล้านบาทต่อปี

ส่วนผลการดำเนินโครงการส่งเสริมการจ้างงานคนพิการเชิงสังคม ประเภทจ้างเหมาบริการ มีสถานประกอบภาคเอกชนเข้าร่วม 196 แห่ง และได้ให้สิทธิแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการตามมาตรา 35 แล้ว รวมทั้งสิ้น 1,499 คน เกินจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1,000 คน สร้างรายได้ให้คนพิการแล้ว 171.25 ล้านบาทต่อปี โดยในปี 2566 ตั้งเป้าขยายการจ้างงานผู้พิการผ่านโครงการดังกล่าวเพิ่มขึ้น 20% เป็น 1,800 คน

สำหรับผู้พิการที่ไม่พร้อมรับงานจ้างเหมาบริการ ทำงานในหน่วยบริการสาธารณะ ยังสามารถรับสิทธิในสัมปทานพื้นที่ทำกิน พื้นที่เพื่อจำหน่ายสินค้าแทนได้ ผ่านกรมการจัดหางาน ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.-31 ธ.ค. 65

"คนพิการที่หางานทำและสถานประกอบการที่ต้องการจ้างคนพิการเข้าทำงาน สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานจัดหางานทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10" น.ส.รัชดา กล่าว

นอกจากนี้ ในเดือนตุลาคมนี้ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จะเปิดตัวโครงการพัฒนาทักษะแรงงานอิสระยุค 4.0 (GIG Worker) เพื่อฝึกทักษะด้านอาชีพฟรี ให้กับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ตั้งเป้าหมาย 31,500 คน เมื่อฝึกจบจะได้รับมอบเครื่องมือในการประกอบอาชีพด้วย ซึ่งแรงงานในกลุ่ม GIG Worker นี้ จะเป็นคนที่ทำงานในรูปแบบงานชั่วคราว งานรับจ้างเป็นระยะเวลาสั้นจบเป็นครั้งๆ ไป ไม่ยึดติดกับที่ใดที่หนึ่ง เช่น งานพาร์ตไทม์ งานฟรีแลนซ์ อาชีพอิสระ การพัฒนาทักษะแรงงานอิสระ (GIG Worker)

ทั้งนี้ จะเน้นการพัฒนาทักษะที่เกี่ยวข้องใน 8 กลุ่มอุตสาหกรรม ประกอบด้วย เทคโนโลยียานยนต์ เกษตรและอาหารแปรรูป ก่อสร้าง ดิจิทัล ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ศิลป์ ท่องเที่ยวและบริการ และงานเชื่อม เป็นต้น สำหรับผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่สนใจ ติดต่อได้ที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานทุกแห่งทั่วประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ