TTB คาดท่องเที่ยวหนุน GDP ปี 66 โต 3.7% แต่ส่งออก-นำเข้าโตชะลอ, เงินเฟ้อ 2.6%

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 27, 2022 18:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

TTB คาดท่องเที่ยวหนุน GDP ปี 66 โต 3.7% แต่ส่งออก-นำเข้าโตชะลอ, เงินเฟ้อ 2.6%

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 66 จะขยายตัวที่ 3.7% เร่งขึ้นจาก 3.2% ในปี 65 โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากกิจกรรมท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติและชาวไทย รวมทั้งการบริโภคภาคเอกชนที่อยู่ในช่วงฟื้นตัวต่อเนื่องไปในปี 66

ทั้งนี้ โดยรวมเศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวได้สูงกว่าตามที่คาดการณ์จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่มีความเสี่ยงด้านต่ำจากความขัดแย้งระหว่างประเทศเศรษฐกิจโลกที่มีทิศทางชะลอตัวลง และภาระหนี้ครัวเรือนของไทยที่ยังเป็นแรงกดดันต่อเนื่อง

ttb analytics เปิดเผยว่า ความต้องการสินค้าทั่วโลกส่งสัญญาณชะลอตัวนับตั้งแต่เข้าสู่ไตรมาส 3/65 ตามกำลังซื้อที่ลดลงจากแรงกดดันเงินเฟ้อในระดับสูงและการเร่งตัวของดอกเบี้ยทั่วโลก สะท้อนจากภาคการค้า ผ่านการหดตัวของยอดการค้าปลีกรายเดือน กิจกรรมในภาคการผลิตและบริการผ่านดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ที่ออกมาสะท้อนภาพหดตัวเช่นกัน

ทั้งนี้ พบว่าเศรษฐกิจของกลุ่มสหภาพยุโรปและอังกฤษกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอยชัดเจนขึ้น และคาดว่าจะถดถอยอย่างเต็มที่ในปี 66 ขณะที่ประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศสำคัญในเอเชียล้วนมีทิศทางชะลอตัวลง ด้วยแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแรงลง ปัจจุบันกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้มีการปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลกในปี 66 ลงจาก 3.6% (คาดการณ์ ณ เดือนเม.ย. 65) เหลือ 2.9% (คาดการณ์ ณ เดือนก.ค. 65)

ttb analytics ประเมินว่า การเติบโตของมูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยในปี 66 จะอยู่ที่ราว 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือขยายตัวเพียง 3.4% ชะลอตัวลงจากปี 65 ตามทิศทางเศรษฐกิจคู่ค้าที่อ่อนแรงลง ขณะที่บางภูมิภาคกำลังเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยชัดเจน ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าของไทยยังมีความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มเติม โดยขึ้นอยู่กับปัจจัย ดังนี้

1. เศรษฐกิจโลกที่อาจชะลอตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ หลังทั่วโลกเข้าสู่ภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นในระดับที่แรงและรวดเร็ว

2. ระดับราคาสินค้าทั่วโลกที่อาจทรงตัวในระดับสูงนานกว่าที่คาด

3. ความสามารถในการบริหารจัดการวิกฤตขาดแคลนพลังงานในสหภาพยุโรป โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวที่กำลังมาถึง

4. ภัยธรรมชาติ รวมถึงความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่กำลังรุนแรงขึ้นทั้งในสหภาพยุโรปและช่องแคบไต้หวัน ซึ่งอาจส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาการชะงักงันหรือสะดุดของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Disruption) และการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกรุนแรงมากกว่าที่ได้ประเมินไว้

ขณะที่การนำเข้าสินค้าในปี 66 จะขยายตัวเพียง 1.0% ชะลอตัวลงจากปี 65 ตามราคาพลังงานในตลาดโลกที่เริ่มลดลง โดยรวมทำให้มองภาพดุลการค้าระหว่างประเทศ (ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์) ปี 66 จะขาดดุลน้อยกว่าปี 65

สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทย จะมีทิศทางดีขึ้นต่อเนื่องไปยังปี 66 หลังจากไทยและประเทศต่างๆ ได้ทยอยผ่อนคลายมาตรการการเดินทางเข้าออกพรมแดนพร้อมกันนับตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังปี 65

ttb analytics มองว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาเที่ยวประเทศไทยในปี 66 จะอยู่ที่ราว 18.5 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 9.5 ล้านคนในปี 65 โดยกลุ่มที่จะเข้ามาเที่ยวมากที่สุดยังเป็นนักท่องเที่ยวแถบอาเซียน ได้แก่ มาเลเซีย สิงค์โปร์ และกลุ่มเอเชียตะวันออก คือ เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น สำหรับนักท่องเที่ยวยุโรปยังมีแนวโน้มเข้ามาเที่ยวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ถือว่ายังอยู่ในระดับไม่มากนักเมื่อเทียบกับปริมาณนักท่องเที่ยวจากฝั่งเอเชีย

อย่างไรก็ดี จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติยังมีโอกาสที่จะดีกว่าที่ประเมินไว้ จากนักท่องเที่ยวในประเทศเหล่านี้ ได้แก่ 1. นักท่องเที่ยวเอเชียใต้และตะวันออกกลางที่เติบโตสูงหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายเป็นต้นมา ได้แก่ อินเดีย กลุ่ม GCC (ซาอุดีอาระเบีย คูเวต โอมาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ และบาห์เรน) 2. นักท่องเที่ยวจีน อาจจะออกมาท่องเที่ยวต่างประเทศได้มากขึ้นในปี 66 หลังทางการจีนเริ่มส่งสัญญาณผ่อนคลายแนวนโยบายควบคุมโรค

ส่วนการนำเข้าบริการของไทย มีแนวโน้มชะลอลงตามค่าระวางเรือที่ราคาทยอยลดลงต่อเนื่อง ส่งผลให้ดุลบริการของไทยในปี 66 มีโอกาสจะกลับมาเกินดุลได้เล็กน้อย หลังขาดดุลอย่างมากในช่วงปี 63-65

ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อของไทยจะเริ่มแผ่วลงนับตั้งแต่ปลายปี 65 จากผลของฐานที่สูงในปี 64 ซึ่ง ttb analytics มองเงินเฟ้อปี 66 จะอยู่ที่ 2.6% ชะลอลงจากเงินเฟ้อปี 65 อยู่ที่ราว 6.1% อย่างไรก็ตาม ระดับราคาสินค้าในประเทศจะยังคงทรงตัวในระดับสูงต่อไปจนถึงกลางปี 66 ก่อนจะทยอยลดลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปในครึ่งหลังของปี 66

ดังนั้น ค่าครองชีพที่แพงและหนี้ครัวเรือนในระดับสูง ท่ามกลางภาวะดอกเบี้ยที่กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น จึงยังคงเป็นปัจจัยกดดันกำลังซื้อในประเทศอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี กิจกรรมการท่องเที่ยวของคนไทยภายในประเทศที่คาดว่าจะยังอยู่ในระดับดีต่อเนื่องในปี 66 และกำลังซื้อของกลุ่มคนรายได้ระดับกลาง-บนที่ยังอยู่ในระดับดี จะเป็นปัจจัยหลักที่ยังช่วยพยุงการบริโภคภาคเอกชนให้ยังขยายตัวได้ท่ามกลางปัจจัยท้าทาย สอดคล้องกับทิศทางการบริโภคในหมวดบริการที่ฟื้นตัวชัดเจน จึงมองว่าการบริโภคภาคเอกชนในปี 66 จะสามารถขยายตัวได้ที่ 3.5% ซึ่งถือเป็นระดับการเติบโตใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยก่อนวิกฤตโควิด-19 ระหว่างปี 59-62

สำหรับเม็ดเงินการใช้จ่ายภาครัฐในปี 66 ประเมินว่าอาจลดลง แม้งบประมาณจะเพิ่มขึ้นจากปี 65 ก็ตาม ประกอบกับการชะลอตัวลงของการส่งออกสินค้าในปี 66 นี้ จึงประเมินว่าการลงทุนภาคเอกชนในปี 66 จะขยายตัวที่ 2.6% ชะลอลงจากปี 65 ที่ 3.0%


แท็ก GDP  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ