รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีการพิจารณาวาระลับเห็นชอบกฎหมายสำคัญเกี่ยวกับการบริหารงานของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง รวม 2 ฉบับ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ ประกอบด้วย
ร่างพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงกรอบวงเงินกองทุนและกรอบวงเงินกู้ เพื่อรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ พ.ศ. .... โดยกำหนดให้ยกเลิก พ.ร.ฎ.เปลี่ยนแปลงกรอบวงเงินกู้เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ (ฉบับที่ ...) พ.ศ. .... ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการเปลี่ยนแปลงกรอบวงเงินกู้ ไม่เกิน 150,000 ล้านบาท ซึ่งผ่านการเห็นชอบจาก ครม.ไปก่อนหน้านี้
โดยได้เปลี่ยนแปลงกรอบวงเงินกองทุนฯ จากเดิมกำหนดไว้ในมาตรา 26 วรรคหนึ่ง ภายใต้ พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 ซึ่งกำหนดวงเงินกองทุนไม่เกิน 40,000 ล้านบาท ปรับเป็นจำนวนไม่เกิน 170,000 ล้านบาท
พร้อมทั้งแก้ไขรายละเอียดของมาตรา 26 วรรคสอง ภายใต้ พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 ในการกำหนดกรอบวงเงินกู้ จากเดิม 20,000 ล้านบาท ปรับเป็นจำนวนไม่เกิน 150,000 ล้านบาท
พร้อมทั้งเพิ่มบทบัญญัติกำหนดให้การเปลี่ยนแปลงกรอบวงเงินกองทุนฯ และกรอบวงเงินกู้ตามร่าง พ.ร.ฎ.นี้มีผลใช้บังคับ 1 ปี และเมื่อครบกำหนดก็ให้ยกเลิก เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่า การเปลี่ยนแปลงกรอบวงเงินครั้งนี้ เป็นไปตามความจำเป็นเฉพาะกรณีการแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิงในครั้งนี้ ซึ่งเป็นมาตรการชั่วคราวตามความจำเป็นของสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ดีเพื่อไม่ให้กระทบกับวงเงินกองทุนฯ ในการบริหารกิจการตามปกติ ยังกำหนดไม่ให้นำวงเงินที่กระทรวงการคลังค้ำประกันตามผ่อนผันให้กระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. .... มานับรวมกับกรอบวงเงินกองทุนและกรอบวงเงินกู้ตามมาตรา 26 ที่ใช้บังคับภายหลังจากที่ร่าง พ.ร.ฎ.นี้ถูกยกเลิก
ส่วนอีกฉบับ คือ ร่าง พ.ร.ก.ผ่อนผันให้กระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. ....ได้ปรับแก้รายละเอียดใหม่ จากเดิมที่ระบุว่า ให้อำนาจกระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ไม่เกินวงเงิน 150,000 ล้านบาท และต้องไม่เกินกรอบหนี้สาธารณะตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ โดยให้ลงนามในสัญญาค้ำประกันภายในระยะเวลา 1 ปี นับตั้งแต่ พ.ร.ก.นี้ใช้บังคับ ทั้งนี้ในการชำระหนี้ที่มีการกู้ยืมให้สำนักงานกองทุนฯ เป็นผู้ชำระหนี้ โดยจะนำเงินงบประมาณมาใช้ในการชำระหนี้กู้ยืมดังกล่าวไม่ได้ และให้ถือว่าการค้ำประกันการชำระหนี้ของสำนักงานกองทุนฯ โดยกระทรวงการคลัง ค้ำประกันการชำระหนี้ตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ ทั้งนี้ตามร่าง พ.ร.ก.ผ่อนผันฯ ฉบับใหม่ที่เสนอเข้ามาได้ปรับเปลี่ยนสาระสำคัญ เป็นการให้อำนาจกระทรวงการคลังโดยอนุมัติของ ครม.ค้ำประกันการชำระหนี้ของสำนักงานฯ ตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ ในกรณีที่มีวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง โดยให้ลงนามในสัญญาค้ำประกันภายในระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ และต้องมีวงเงินรวมไม่เกิน 150,000 ล้านบาท ทั้งนี้กำหนดให้สำนักงานกองทุนฯ มีหน้าที่ชำระคืนจนครบถ้วนภายในระยะเวลาที่กระทรวงการคลังกำหนดโดยความเห็นชอบของ ครม.