นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน BOT SYMPOSIUM 2022 หัวข้อ "ก้าวสู่ยุคใหม่เศรษฐกิจการเงินไทย" ว่า ปี 65 เป็นปีที่มีความท้าทาย ไม่เพียงแต่ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการฟื้นตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจที่รุนแรง จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ไทยยังเผชิญกับความจำเป็นในการปรับตัว เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วด้วย
ปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไปในอนาคตได้นั้น คือ คนรุ่นต่อไป (next generation) ไม่ว่าจะเป็นเด็กวัยเรียน คนวัยเริ่มทำงาน หรือคนที่กำลังสร้างเนื้อสร้างตัว ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่จะเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต ดังนั้น การวางรากฐาน (foundations) ของระบบเศรษฐกิจและการเงินที่เอื้อต่อการสร้างศักยภาพและความมีส่วนร่วมให้กับคนรุ่นใหม่ จึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า คนรุ่นใหม่เป็นกลุ่มคนที่มีพลัง กล้าคิดกล้าลอง อยากเรียนรู้ สนใจในโอกาสที่เพิ่มขึ้นจากโลกที่ไร้พรมแดนและนวัตกรรม คนรุ่นใหม่จึงเต็มไปด้วยศักยภาพที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องที่น่ากังวลว่าคนไทยรุ่นใหม่จำนวนมากยังขาดความมั่นคงในอนาคต (insecurity) ในหลายด้าน
"ถ้าจะดูว่าเศรษฐกิจมีความยั่งยืนหรือมีความมั่นคงหรือไม่ ทางเศรษฐศาสตร์ต้องดูเรื่องทุน แรงงาน เทคโนโลยี ประสิทธิภาพ แต่สิ่งที่สะท้อนเศรษฐกิจให้เห็นเป็นเรื่องพื้นฐาน เช่น เรารู้สึกว่าคนรุ่นใหม่ รุ่นลูก มีชีวิตความเป็นอยู่ของรุ่นพ่อแม่หรือไม่ ซึ่งถ้าดูในมิตินี้ ไม่เฉพาะในไทยแต่ทั่วโลกสะท้อนให้เห็นว่า คนรุ่นใหม่ที่เป็นฟันเฟืองสำคัญของการขับเคลื่อนสิ่งต่างๆ ในอนาคต ต้องประสบความไม่แน่นอน ขาดความมั่นคงในหลายมิติ ที่เห็นได้ชัดเจน คือเรื่องเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม" นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
นายเศรษฐพุฒิ มองว่า คนรุ่นใหม่ยังขาดความมั่นคงในอนาคต (insecurity) ในหลายด้าน ได้แก่ ด้านที่ 1 คนไทยรุ่นใหม่จำนวนมากขาดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ (economic insecurity) แบ่งเป็น 3 มิติ คือ
มิติแรก คือ คนรุ่นใหม่กำลังเผชิญกับความท้าทายในการหาเลี้ยงชีพและการสร้างรายได้ที่มากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับคนรุ่นก่อนๆ ที่สั่งสมความมั่งคั่งในช่วงเศรษฐกิจเฟื่องฟูในช่วงหลาย ทศวรรษที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยเติบโตช้าลงอย่างต่อเนื่อง จากอัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยที่สูงถึง 7.2% ต่อปีในช่วงปี 2523 ลงลดครึ่งหนึ่งเหลือ 3.6% ในช่วงปี 2553
มิติที่สอง คือเรื่องการศึกษาและการพัฒนาทักษะของคนรุ่นใหม่ให้ทันสมัยอยู่เสมอทำได้ยากขึ้นกว่าคนรุ่นก่อน เนื่องจากบริบทโลกมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและความไม่แน่นอนในอนาคตที่สูงขึ้น ทั้งจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด กระแสความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ที่เข้มข้นขึ้นอย่างรวดเร็ว และการเปลี่ยนแปลงของภูมิรัฐศาสตร์โลกที่กระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้สร้างคำถามต่อคนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเด็กวัยเรียนหรือคนที่กำลังสร้างเนื้อสร้างตัว ว่าทักษะใดที่จะตอบโจทย์ความต้องการของโลกในอนาคต (skills for the future) งานและรูปแบบการทำงานจะเปลี่ยนไปอย่างไร อาชีพปัจจุบันจะอยู่รอดและเติบโตใน อนาคตหรือไม่ (future of work)
"ได้ยินคำถามบ่อยๆ ว่าลูกเขาควรเลือกเรียนอะไร ซึ่งเป็นคำถามที่ตอบได้ยากมากว่าจะเรียนอะไร อาชีพเดิมๆ ที่เราคิดว่าเรียนไปแล้วเราค่อนข้างมั่นใจว่าเรียนไปแล้วจะเป็นพื้นฐานให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ไม่ว่าจะเป็นวิศวะ หมอ มนุษยศาสตร์ การเงิน แต่ในอนาคตเห็นกระแส AI ต่างๆ เข้ามาทดแทน ทำให้การมีทักษะพวกนั้นอาจไม่ตอบโจทย์ก็ได้ และความมั่งคั่งอาจไม่ได้มาจากการเรียนสาขาดั้งเดิม เรียนไปแล้วให้ security ต่างๆ" นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
มิติที่สาม คือ นอกจากเรื่องรายได้และทักษะที่สร้างได้ยากแล้ว คนรุ่นใหม่ยังมีภาระหนี้สินที่สูงกว่าคนรุ่นก่อนๆ โดยจะเห็นได้ว่าคนไทยเป็นหนี้เร็วขึ้น พบว่าครึ่งหนึ่งของคนอายุ 30 ปี มีหนี้จากสินเชื่ออุปโภคบริโภค หนี้บัตรเครดิต ซึ่งเป็นสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ขณะที่ 1 ใน 5 ของคนที่เป็นหนี้เสียกระจุกอยู่ในกลุ่มอายุ 29 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มของคนวัยทำงาน สร้างรากฐานของครอบครัว คนไทยนอกจากเป็นหนี้มากขึ้น ยังเป็นหนี้นานขึ้นด้วย สะท้อนจากการที่หนี้ต่อหัวเร่งขึ้นในกลุ่มคนอายุปลาย 20 เข้า 30 ปี และยังคงอยู่ในระดับสูงตลอดอายุการทำงาน นอกจากนี้ระดับหนี้ก็ไม่ลดลงแม้จะเข้าสู่อายุใกล้วัยเกษียณก็ตาม
ด้านที่ 2 คนรุ่นใหม่ยังต้องเผชิญกับการขาดความมั่นคงด้านสังคม (social insecurity) โดยคนรุ่นใหม่ทั่วโลกเติบโตมาท่ามกลางความขัดแย้งทางสังคมที่มีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับผลการสำรวจของ World Value Survey ที่พบว่า ประเทศไทยมีคะแนนความเชื่อใจกันของคนในสังคมลดลงถึง 1 ใน 4 ในช่วงเวลา 10 ปี (2551-2561) ส่วนผลสำรวจเรื่องความแตกแยกในสังคมคิดต่างอย่างมีภูมิ ของสถาบันวิจัยป๋วย อึ๊งภากรณ์ ชี้ให้เห็นว่ากลุ่มตัวอย่างของคนอายุต่ำกว่า 40 ปี เห็นว่าสังคมไทยมีคุณภาพต่ำกว่ากลุ่มคนอายุ 40 ปีขึ้นไป สะท้อนเรื่องช่องว่างระหว่างวัย (Generation gap) ที่เกิดขึ้น ทั้งในด้านความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม การมีส่วนร่วม หรือความสมานฉันท์
อย่างไรก็ดี สถานการณ์นี้ไม่ได้จำเพาะเจาะจงกับประเทศไทยเท่านั้น ผลการสำรวจจากกว่า 40 ประเทศของ Deloitte Global Millennial Survey พบว่า มีคนรุ่นใหม่แค่ 36% ในกลุ่มตัวอย่างในปี 2560 ที่คาดว่าสภาพสังคมและการเมืองจะดีขึ้น และสัดส่วนนี้ลดลงเหลือ 24% ภายในปี 2562
สิ่งที่น่ากังวลสำหรับประเทศไทย คือความมั่นใจ ความมั่นคงทางสังคม ไม่ได้มีแนวโน้มลดลงในอนาคต โดยจะเห็นได้จากที่มีการบริโภคสื่อที่มีความเห็นใกล้เคียงกัน (echo chamber) ในระดับที่สูง ซึ่งมีแนวโน้มที่จะสร้างความคิดแบบสุดขั้ว และรู้สึกอคติต่อคนฝั่งตรงข้ามมากขึ้น และถูกซ้ำเติมด้วยความเหลื่อมล้ำในประเทศที่สูง โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำด้านโอกาส ยิ่งเป็นปัจจัยที่จะก่อให้เกิดความตึงเครียดทางสังคมมากขึ้น
ด้านที่ 3 คือ คนรุ่นใหม่ต้องเผชิญกับความไม่มั่นคงด้านสิ่งแวดล้อม (environmental insecurity) การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่รวดเร็วและรุนแรงขึ้น จะสร้างความเสียหายของระบบเศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ของประชาชน โดยประเทศไทยเป็นประเทศที่อยู่อันดับต้นๆ ที่จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากภัยธรรมชาติ ขณะที่ขีดความสามารถในการรับมือของไทยอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ 39 จาก 48 ประเทศที่มีการสำรวจ
อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตความเป็นอยู่ในอนาคตของคนไทย ไม่เพียงแต่รายได้และทรัพย์สินที่เสียหายจากภัยธรรมชาติที่เกิดถี่และรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังกระทบการผลิตภาคเกษตรที่เป็นแหล่งอาหารสำคัญของคนไทย ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่าการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลจากที่อุณหภูมิโลกสูงขึ้น จะทำให้พื้นที่บริเวณกรุงเทพและปริมณฑล ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น และเป็นเขตเศรษฐกิจที่สำคัญ มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดน้ำท่วม
ดังนั้น การขาดความมั่นคงในอนาคตด้านสิ่งแวดล้อมของคนรุ่นใหม่ ก็จะครอบคลุมด้านอาหาร (food insecurity) และขาดความมั่นคงในถิ่นฐานที่อยู่ (insecurity in human settlements) อีกด้วย
"ความไม่มั่นคงในอนาคต จะบั่นทอนเรื่องแรงจูงใจ ความพร้อม และโอกาสของคนรุ่นใหม่ที่จะพัฒนาทักษะ การลงทุน และการบุกเบิกธุรกิจใหม่ๆ และก้าวเข้ามาเป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง" นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า การที่คนไทยรุ่นใหม่ไม่มีความมั่นคงในอนาคตนี้เกิดจากหลายปัจจัย แต่ปัจจัยสำคัญประการหนึ่ง คือการที่ระบบต่างๆ ในประเทศไทยปรับเปลี่ยนไม่ทันต่อบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและมี ความไม่แน่นอนสูง ทำให้คนรุ่นใหม่จำนวนมากไม่พร้อมรับมือกับอนาคต เช่น
1. เรื่องโครงสร้างเศรษฐกิจของไทย ที่ไม่ตอบสนองต่อบริบทของเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงไป จะเห็นได้จากอุตสาหกรรมหลักของไทยทั้งยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเลียมและปิโตรเคมี ที่เป็นอุตสาหกรรมของโลกเก่า คิดเป็น 40% ของมูลค่าส่งออกของไทย และคิดเป็น 37% ของ GDP ภาคอุตสาหกรรม และคิดเป็น 10% ของ GDP โดยรวม ขณะเดียวกัน ในบาง Sector จะเจอความท้าทาย ไม่ว่าจะเป็นสาขารถยนต์ เครื่องยนต์ สันดาป ที่ถูกกระทบจากการเปลี่ยนมาใช้รถ EV ทำให้ความต้องการชิ้นส่วนยานยนต์ลดลง
ส่วนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ไทยอาจไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควรจากกระแสเรื่อง digitalization และ EV เนื่องจากผลิตสินค้าที่เติบโตช้ากว่า เช่น ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ ที่คิดเป็น 38% ของการส่งออกในหมวดอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนอุตสาหกรรมปิโตรเลียมและปิโตรเคมี ก็มีแนวโน้มที่จะถูกกระแสเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ทำให้ความต้องการพลาสติกและน้ำมันลดลง
2. ระบบการศึกษาที่ไม่ตอบสนองต่อแรงงานที่เปลี่ยนไป ทำให้อาชีพของคนไทยไม่ตรงกับระดับการศึกษาเมื่อเทียบกับอดีต งานวิจัยของสถาบันวิจัยป๋วย อึ๊งภากรณ์ พบว่าเมื่อ 10 ปีที่แล้ว คนที่จบปริญญาตรี 80% ทำงานในอาชีพที่ทักษะสูง (High skill) แต่ในปัจจุบันคนที่จบปริญญาตรีกลับทำงานในกลุ่มอาชีพที่ใช้ทักษะระดับกลาง (Middle skill) มากขึ้น ส่วนคนที่จบการศึกษาระดับอาชีวศึกษา ที่ส่วนหนึ่งเคยได้ทำงานในกลุ่มทักษะกลาง-สูง ปัจจุบันถูกผลักไปทำงานที่ใช้ทักษะต่ำ (Low skill) มากขึ้น
3. ขาดการแข่งขันที่เป็นธรรมในภาคธุรกิจ ที่ไม่เอื้อต่อการเข้าประกอบกิจการของผู้ประกอบการรายใหม่ ซึ่งเป็นการจำกัดศักยภาพของคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถแต่ขาดโอกาส งานวิจัยของสถาบันวิจัยป๋วย อึ๊งภากรณ์ พบว่า อัตราการเข้าสู่ตลาดของธุรกิจรายใหม่ (Entry rate) มีแนวโน้มลดลงในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่บริษัทเดิมในอุตสาหกรรม มีอำนาจผูกขาดมากขึ้น ในบริบทโลกใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว พลวัตของภาคธุรกิจที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงจึงเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่ต้องเติบโตในยุคการเปลี่ยนแปลง
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวต่อว่า การสร้างความมั่นคงในอนาคตให้คนรุ่นใหม่ จึงจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนและเสริมสร้างรากฐานเศรษฐกิจให้สอดรับกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป หรือรูปแบบและหน้าตาของการเติบโต (shape of growth) ควรที่จะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
ทั้งนี้ โครงสร้างเศรษฐกิจต้องเปิดโอกาสให้ทุกคนอย่างเท่าเทียม ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสที่สูงขึ้นก็ควรได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ทั้งความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ การเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ เทคโนโลยี บริการทางการเงิน รวมถึงโอกาสในการประกอบอาชีพและโอกาสในการประกอบธุรกิจ เพื่อเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ ใช้ศักยภาพของตนเองตอบสนองความต้องการในระบบเศรษฐกิจในบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งจะช่วยลดการกระจุกตัวของความเจริญทางเศรษฐกิจได้
นอกจากนี้ ระบบเศรษฐกิจต้องเอื้อให้คนรุ่นใหม่ สามารถนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น ทั้งการยกระดับการผลิตในภาคเศรษฐกิจ ที่จะสะท้อนจุดแข็ง (comparative advantage) ของประเทศได้ดีขึ้น เช่น การทำเกษตรอัจฉริยะ (smart farming) การใช้ช่องทางธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-commerce) การขายสินค้า และการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของภาคเศรษฐกิจและการเงินที่เกิดขึ้นในบริบทโลกใหม่
สุดท้ายระบบเศรษฐกิจไทยควรมีโครงข่ายความคุ้มครอง (Safety Nets) เพื่อให้คนรุ่นใหม่กล้าที่จะบุกเบิก แสวงหาโอกาสใหม่ ในการลงทุนที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง รวมทั้งสามารถรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่คาดฝันได้
อย่างไรก็ดี การที่จะให้รูปแบบของการเติบโตเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต ธปท. มีบทบาทในการช่วยลดความขาดความมั่นคง และช่วยให้คนรุ่นใหม่สามารถหาโอกาสเพื่อตอบโจทย์โลกใหม่ได้ หน้าที่หลักของ ธปท. คือเรื่องการดูแลเสถียรภาพ ทั้งด้านราคา การเงิน ระบบเศรษฐกิจ การชำระเงิน ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญและจำเป็นที่สุดในการลดเรื่องความไม่มั่นคง เช่น ประเทศที่ประสบปัญหาขาดเสถียรภาพ ทั้งประเทศเพื่อนบ้านที่เผชิญปัญหาขณะนี้ หรือไทยที่เผชิญปัญหาในช่วงก่อน จะเห็นได้ชัดว่า ถ้า ธปท. ไม่สามารถทำหน้าที่ในการรักษาเสถียรภาพได้อย่างดี จะเป็นการบั่นทอนการสร้างโอกาส และความไม่มั่นคงให้คนรุ่นใหม่
นอกเหนือจากการทำหน้าที่หลักแล้ว ธปท. ยังมีนโยบายอย่างน้อย 2 ด้าน ที่มองว่าน่าจะเป็นการช่วยสร้างโอกาส และลดความไม่มั่นคงของคนรุ่นใหม่ โดยแนวนโยบายแรก คือแนวนโยบายเพื่อเพิ่มโอกาสให้ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลและข้อมูลเพื่อเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้นในต้นทุนที่เหมาะสม
ทั้งนี้ ธปท. ได้มีการผลักดันและดำเนินการมาตลอด โดยได้ออกแนวนโยบายภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย (Financial Landscape Consultation Paper) ซึ่งได้มีการพูดถึงหลักการ "3 Open" ได้แก่
1. Open Infrastructure คือ สร้างโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่เปิดกว้าง ให้ผู้บริการที่หลากหลายสามารถเชื่อมต่อและเข้าถึงได้ในราคาที่เหมาะสม และผู้บริโภคมีทางเลือกที่ตรงกับความต้องการมากขึ้น
2. Open Data เป็นการผลักดันระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลของประเทศ ทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งในและนอกภาคการเงินให้มากขึ้น เพื่อให้ Digital Footprint ที่เกิดขึ้นถูกนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในวงกว้าง ไม่เกิดการผูกขาดข้อมูลโตยบริษัทรายใหญ่ไม่กี่ราย
3. Open Competition สนับสนุนผู้ให้บริการทางการเงินรายใหม่และรายเดิม สามารถแข่งขันกันอย่างเป็นธรรม (level-playing field) เพื่อพัฒนานวัตกรรมทางการเงินที่ตอบสนองผู้ใช้บริการ และอยู่ภายใต้เกณฑ์การกำกับดูแลที่เท่าเทียมกัน
สำหรับแนวนโยบายที่สอง คือแนวนโยบายในการส่งเสริมให้ภาคธุรกิจและครัวเรือนสามารถปรับตัวให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยให้ภาคการเงินเป็นกลไกสำคัญ ในการสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและบริการทางการเงินที่จำเป็นต่อการปรับตัว ซึ่งธปท. ได้ออกแนวนโยบายการพัฒนาสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมเมื่อเดือนส.ค. ที่ผ่านมาเพื่อสนับสนุนให้ภาคการเงินผนวกเรื่องนี้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจและการบริหารความเสี่ยง
ทั้งนี้ ธปท. หวังว่าแนวนโยบายทั้งสองนี้ จะเป็นฟันเฟืองหนึ่งที่มีส่วนช่วยให้คนไทย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่สามารถเข้าถึงโอกาสในการประกอบอาชีพ สร้างรายได้ ยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม และสามารถใช้ชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพ